ชาวนาสระบุรีเฮ ใช้ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ไร่ละ 673 บาท

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามกลุ่มเกษตรกรศูนย์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี ที่นำเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด มาทดลองใช้


พบช่วยเกษตรกรลดต้นทุนได้จริง และมีความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น แนะให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องธาตุอาหารในดินตามพื้นที่ และการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องตามวิชาการ พร้อมมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร


นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการสำรวจกลุ่มเกษตรกรศูนย์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โดยนายร่ม วรรณประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านห้วยทองหลาง เป็นประธาน ซึ่งนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาทดลองใช้ในปี 2551 พบว่า สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยในนาข้าวได้ โดยในปี 2550 ใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 95 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นค่าปุ๋ย 1,283 บาท/ไร่ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ในช่วงปี 2551-2555 พบว่า มีการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 33 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นค่าปุ๋ย 610 บาท/ไร่ ทำให้ลดค่าปุ๋ยได้ไร่ละ 673 บาท

สำหรับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดนั้น จะต้องตรวจสอบชุดดิน เก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์เพื่อหาสัดส่วนปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมในแต่ละแปลง โดยเกษตรกรจะผสมปุ๋ยเคมีเองตามผลการวิเคราะห์ดิน กลุ่มเกษตรกรจะสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากผู้ผลิตโดยตรง ทำให้สามารถซื้อปุ๋ยเคมีได้ในราคาที่ต่ำลง เมื่อปี 2550 กลุ่มเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีจำนวนเงิน 1.7 ล้านบาท และในปี 2555 กลุ่มเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีลดลงเหลือ 1 ล้านบาท หรือลดลง ร้อยละ 44  นอกจากนี้ พบว่า ในปี 2551 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปุ๋ยเคมีสั่งตัด จำนวน 5 ราย เนื้อที่ปลูกข้าว 237 ไร่ และในปี 2555 พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 52 ราย เนื้อที่ปลูกข้าว 3,160 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า และ 13 เท่า ตามลำดับ


รองเลขาธิการกล่าวต่อไปว่า นอกจากการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด กลุ่มเกษตรกรยังมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยพืชสด รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการตีดินเพื่อให้วัชพืชลดลง มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน และลดการเผาฟางข้าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้การปลูกข้าวในช่วงปี 2551-2555 มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลงลงจากปี 2550 ประมาณร้อยละ 10 และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10


อย่างไรก็ตาม เกษตรกรบางรายในศูนย์ข้าวชุมชนฯ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการปุ๋ยเคมีสั่งตัด เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในเทคนิคปุ๋ยเคมีสั่งตัดจึงยังใช้ปุ๋ยเคมีสูตรสำเร็จที่จำหน่ายในท้องตลาดมาใช้ตามวิถีดั้งเดิม ดังนั้น จึงควรให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องธาตุอาหารในดินที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก


ที่มาข่าว

http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=175392&catid=176&Itemid=524