วช.จัดเวทีสรุปการขยายผล, ถ่ายทอดเทคโนโลยี, ปุ๋ยสั่งตัด

การลงพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่อบต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี เพื่อจัดเวทีสรุปการขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ : บทเรียนการขับเคลื่อนเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานเมื่อเร็วๆ นี้ ร่วมด้วยนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สร้างความดีอกดีใจให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการให้ความรู้แก่พี่น้องชาวเกษตรกรโดยตรง อันเป็นผลมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการถอดบทเรียนองค์ความรู้เรื่อง “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งต่อมาได้ขยายผลสู่มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ดำเนินโครงการคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ยของชุมชน แก้ปัญหาให้กับเกษตรกร

โดยมีทีมคณะนักวิจัย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้มีการจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จังหวัดละ 5 แห่งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เชียงราย และสระบุรี เพื่อวิจัยและพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยที่มีความแม่นยำ ใช้ปุ๋ยที่ตรงกับชนิดดินและตามความต้องการพืช ช่วยให้ลดค่าปุ๋ยเคมีได้ 50% ลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิต ลดปัญหาสุขภาพ และการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการวิจัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพล.อ.อ.ประจินยังได้กล่าวถึงบทบาทของวช.ว่า วช. ถือว่าเป็นร่มใหญ่ของการวิจัยของประเทศทั้งหมด มีหน้าที่ทำยุทธศาสตร์ เป้าหมายเป็นวาระแห่งชาติต่อยอดไป เรามีทั้งบุคลากร งบประมาณ ลงไปสู่นักวิจัย วิจัยออกมา ขบวนการทั้งหมดมี 9 ขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องนโยบายจนถึงการนำมาใช้งาน

“ผมได้ให้นโยบายว่าขณะนี้รัฐบาลต้องการให้งานวิจัยนำไปสู่การนำไปใช้สู่ผลสัมฤทธิ์เนื่องจากขั้นตอนการจะมีประเด็นวิจัย ต้องตรงกับความต้องการไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ นำไปสู่การแก้ปัญหา ถือว่าตอบรับกับความต้องการ(Demand) ซึ่งเราก็จะจับคู่กัน ประชาชนเอามาช่วย นักธุรกิจเอามาช่วย มหาวิทยาลัยเอามาช่วย ประชาชนเอามาช่วยแล้วมาดูว่ามีงานอะไรเป็นงานเร่งด่วน สนับสนุนงบประมาณก่อน มีผลงานวิจัย ติดตาม ประเมินผล เมื่อเสร็จก็จับคู่กันกับผู้ประกอบการ เสร็จแล้วจึงพัฒนาสู่รูปแบบการผลิตให้มีรายได้กลับเข้ามา” รองนายกฯ กล่าว

“ผมได้ขอให้ทั้ง 12 กลุ่มสายงานวิจัยช่วยไปค้นหามาว่าเป้าหมายที่ควรเร่งดำเนินการในช่วงปี 2559-2561 เอา 3 ปีนี้ก่อนมีเป้าหมายอะไรบ้าง แล้วเราจะมาบรรจุทั้งหมดเป็นกรอบยุทธศาสตร์ 5 ปี 4 ครั้ง รวม 20 ปี โดยจะมีการปรับแก้ทุก 2 ปี”

พล.อ.อ.ประจิน ยังบอกอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องของงานวิจัยนี้มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เช่น หน่วยงานกระจัดกระจาย การลงทุน นักวิจัยมีน้อย ใช้ประโยชน์ได้น้อย งานวิจัยขึ้นหิ้ง เราจะมาแก้ปัญหากัน ก็ขอเวลาอีกไม่กี่เดือนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ทิศทางการเดิน โครงสร้างงานวิจัย ผลงานวิจัย การนำไปใช้ประโยชน์ จะให้มีการปฏิรูปอย่างชัดเจน

เมื่อถามถึงความคาดหวังของรัฐบาลต่อบทบาทงานวิจัย พล.อ.อ.ประจิน ยืนยันว่า ต้องกำหนดหน่วยงานชัดเจนในการกำหนดนโยบาย โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าใน 3 ปี 5 ปี เราจะมีงานวิจัยที่ควรเน้นเร่งด่วน 1 2 3 4 แต่ละด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง อาหาร ยา การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ฯลฯ มีอะไร เพื่อผลักดันตรงนั้นและจะดูว่า Process ของการดำเนินการเพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ต้องเป็นรูปธรรมแท้จริง ที่สำคัญต้องมีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในการทำแพ็กเกจจิ้งที่มีรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งตอนนี้ทำอยู่แต่จะเอามาขยายผล และทำให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นลักษณะของประชารัฐ

“เรื่องงานวิจัยถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก สมมุติเราพูดถึงเรื่องของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้นน้ำก็อย่างที่เราพูดถึงกันวันนี้ก็คือเรื่องวิจัยพันธุ์พืช วิจัยดิน วิจัยปุ๋ย นี่คือต้นน้ำ เมื่อเราวิจัยเรียบร้อยแล้วเราก็นำไปสู่ภาคปฏิบัติก็เอาไปปลูก ดูแลการปลูกให้เขาเจริญเติบโต ดูแลเรื่องแมลง เก็บเกี่ยว จนมาถึงช่วงกลางน้ำไปสู่ปลายน้ำคือการแปรรูปไปสู่สินค้า มีแพ็กเกจที่สวยงาม น่าสนใจ เช่น เก็บได้ในซองสุญญากาศ ทำให้คนชอบ ขายได้ราคาดี”

ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำถึงประโยชน์ของการวิจัย ซึ่งจะช่วยให้เกิดวิทยาการใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งสามารถใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ