ปฏิวัติการใช้ปุ๋ย

ปฏิวัติการใช้ปุ๋ย

นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่างเดียว

โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีนั้นไม่เหมาะสมกับการเกษตรของไทย

พฤษภาคม 2545

เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยได้ถูกนำขึ้นมาพูดคุยกันอีกครั้งโดยใช้เวทีที่มีทั้งเกษตรกร นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเปิดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “ปฏิวัติการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรไทย” โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหัวเรือใหญ่ช่วยจัดงานครั้งนี้

การบรรยายในช่วงแรกเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอย่างไรให้ถูกต้อง ปัจจุบันมีการใช้ผิดอย่างไรโดย รศ.ดร.พีระเดช ทองอำไพ จาก สกว. และ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบคำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับข้าวโพดจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.พีระเดช ได้กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่าง เดียวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีนั้นไม่เหมาะสมกับการเกษตรของไทยเนื่องจากลักษณะและความอุดมสมบูรณ์ของดินยังต้องการธาตุอาหารจำนวนมากไม่สามารถหาปุ๋ยอินทรีย์มาทดแทนจำนวนดังกล่าวได้ ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมหาศาลซึ่งสามารถทำได้บางส่วนในเกษตรกรที่ทำการเกษตร ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวจะเพียงพอ แต่การใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเดียวกันกับพืชทุกชนิด ไม่ใช้วิธีการที่ถูกต้อง เพราะพืชในแต่ละพื้นที่ก็ต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน จึงควรให้ตามความต้องการของพืชในแต่ละพื้นที่การให้ธาตุอาหารมากเกินไปจนเกิดการสะสม ทำให้เกิดผลเสียแก้ไขได้ยากและรวมถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไข การวิเคราะห์ดินและพืช เพื่อรู้ความต้องการของพืชจึงเป็นการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

ดร.ทัศนีย์ ยังได้กล่าวเน้นในเรื่องวิธีการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ได้ค่ามากำหนดการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพดิน การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร ควรจะได้เรียนรู้เรื่องการผสมปุ๋ยใช้เอง เพื่อให้ดินและพืชได้รับธาตุอาหารตรงกับความต้องการและยังเป็นการลดต้นทุนด้วยปัญหาอยู่ที่การหาแม่ปุ๋ยที่นำมาผสมหาได้ยาก ส่วนปัญหาการวิเคราะห็ดินได้พัฒนาชุดทดสอบดิน ซึ่งให้ความแม่นยำได้ถึง 80-90 % และค่าใช้จ่ายเพียงตัวอย่างละ 100 บาท เท่านั้น

ในช่วงบ่ายเป็นข่วงอภิปรายโดยมีเกษตรกร,นักส่งเสริม,นักวิชาการ และบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายปุ๋ยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ในช่วงอภิปรายได้กล่าวถึงการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยังอยู่ในอัตราต่ำกว่าและยังสามารถใช้ได้มาขึ้นโดยเน้นการใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนนั้นคงทำได้ยาก เพราะไม่สามารถทดแทนธาตุอาหารของปุ๋ยเคมีหรือธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ได้แต่ควรใช้ร่วมด้วย ท้ายสุดทุกคนได้รับความเข้าใจการใช้ปุ๋ยเคมีว่าต้องใช้ให้ถูกต้องเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดและรวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งก็น่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง