ชุดตรวจสอบปุ๋ยตกค้างในน้ำ

เมื่อก่อนเคยได้ยินว่าผงซักฟอกที่ขายในเมืองไทย เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย เพราะว่ามีสารประกอบฟอสเฟตตกค้างสูง ผลที่ตามมาก็คือผู้ผลิตผงซักฟอกต่างก็เปลี่ยนสูตรของตัวเองกันใหม่

ความจริงปัญหาเรื่องการใช้ผงซักฟอกที่เราเห็นกันว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่น่าจะมีผลให้น้ำเน่าเสียได้ แต่อย่าลืมว่า การใช้กันคนละนิดเมื่อรวมกันแล้วก็ถือได้ว่ามีปริมาณสูงพอที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ เรื่องนี้อาจมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนกับน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม

แต่ว่าต้นเหตุของน้ำเสียอีกทางหนึ่งซึ่งหลายคนอาจจะมองข้ามไปเพราะว่าดูแล้วเหมือนกับว่ามีผลเล็กน้อยมาก เหมือนกับเรื่องผงซักฟอก นั่นก็คือของเหลือทิ้งหรือน้ำเสียจากการเกษตรครับ

พูดถึงเรื่องน้ำเสียทางการเกษตรก็มองกันที่ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าที่ตกค้างในดินแล้วก็ไหลมาตามน้ำ ทำให้ปลาหรือสัตว์น้ำตาย แล้วก็ทำให้น้ำเสีย แต่ความจริงปุ๋ยที่ตกค้างในดินแล้วละลายออกมาไหลไปตามน้ำ ก็ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงเช่นกันปุ๋ยที่เราใส่ลงไปในดินมากเกินไปก่อให้เกิดปัญหาได้อย่างไรบ้าง เริ่มแรกถ้าเราใส่ปุ๋ยมากเกินความต้องการของต้นไม้ โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งทราบกันอยู่แล้วว่า ปุ๋ยชนิดนี้มีความสามารถในการละลายน้ำได้ดีมาก

ฉะนั้น ถ้ามีมากเกินไปก็จะละลายน้ำแล้วก็ซึมลงสู่ใต้ดิน ไปรวมกับน้ำใต้ดิน ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ปุ๋ยตกค้างเหล่านี้ก็จะไหลลงสู่แหล่งน้ำแล้วก็เคลื่อนที่ไปตามน้ำได้ ผลที่ตามมาคือพวกสาหร่ายและจุลินทรีย์ต่างๆ ในน้ำต่างก็ดีใจกันถ้วนหน้าเพราะว่าได้ปุ๋ยเหล่านี้เป็นอาหาร จึงขยายพันธุ์เติบโตกันอย่างมโหฬาร

บางคนก็บอกว่าดีแล้วเพราะปลาและสัตว์น้ำจะได้ใช้สาหร่ายเป็นอาหาร และสาหร่ายสีเขียวเหล่านี้ช่วยกันสร้างออกซิเจนละลายน้ำได้อีก เรื่องนี้เป็นจริงบางส่วน เพราะว่าถ้ามีปุ๋ยตกค้างมากเกินไป สาหร่ายเหล่านี้ก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่พอปุ๋ยหมด สาหร่ายเริ่มตายตอนนี้แหละครับที่เป็นปัญหา เพราะว่าเมื่อสาหร่ายตายลงก็ต้องถูกจุลินทรีย์เข้ามาย่อยสลาย

ในการย่อยสลายนั้น จุลินทรีย์ต้องอาศัยออกซิเจนในน้ำจำนวนมาก ผลก็คือออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วก็คงเดากันได้ว่า ผลที่ตามมาคือสัตว์น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอย ปู ปลา ต่างก็ตายหมดเพราะขาดอากาศหายใจ ผลสุดท้ายก็สรุปกันออกมาว่าปลาตายเพราะน้ำเน่าเสีย แต่มักไม่ค่อยมีใครมองไปที่สาเหตุลึกลงไปกว่านั้นว่าทำไมน้ำจึงเน่าเสียเพราะฉะนั้น ถ้าจะลดปัญหานี้ลง ก็คงต้องทำความเข้าใจทั้งระบบว่า ถ้าเราใส่ปุ๋ยถูกต้อง

ตามความต้องการของพืช ก็น่าจะลดปัญหาลงได้บางส่วน แล้วถ้ามีเครื่องมือตรวจวัดว่ามีปุ๋ยตกค้างในน้ำมากน้อยเพียงใด ก็จะช่วยให้บริหารจัดการได้ง่ายและดีขึ้น ลดปัญหาน้ำเน่าเสียลงได้

เครื่องมือที่ว่านี้ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ไทยได้พัฒนาขึ้นมาใช้ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจสอบปุ๋ยเอ็นพีเคในดิน เพื่อที่จะได้ใช้ปุ๋ยตรงตามความต้องการของพืชจริงๆ โดยไม่เหลือตกค้างมากนัก แล้วก็ยังมีชุดตรวจสอบไนเตรตในน้ำ และชุดตรวจสอบฟอสเฟตในน้ำหมายความว่านำตัวอย่างน้ำมาตรวจได้เลยว่ามีปุ๋ยไนเตรตและฟอสเฟตตกค้างในน้ำมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้จัดการได้ทันเหตุการณ์ ก่อนที่จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา

ชุดตรวจสอบที่ว่านี้ทำขึ้นโดย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และทีมงานอีกหลายคนจากภาควิชาปฐพีวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ข้อดีก็คือ ใช้ง่าย แม่นยำ และข้อสำคัญคือ รวดเร็วและราคาถูก โดยที่ต้นทุนค่าตรวจอยู่ที่ตัวอย่างละ 10 บาทเท่านั้น

ความจริงเรื่องชุดตรวจสอบนี้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำน่าจะซื้อหาเอาไปใช้ แต่ว่าถ้าเกษตรกรแต่ละรายช่วยกันคนละไม้คนละมือตรวจสอบน้ำในบ่อหรือบริเวณแหล่งน้ำของตนเพื่อจะได้รู้ว่าเราใส่ปุ๋ยมากเกินไปหรือเปล่า ก็น่าจะเป็นทางช่วยให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลงได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2547