ทางรอดของชาวนาไทยในยุคปุ๋ยแพง

ที่มา : 1. โครงการการจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่เพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน

          2. ราคาปุ๋ยเคมี ณ วันที่ 11 มกราคม 2551 ปุ๋ย 16-20-0 ปุ๋ย 0-0-60 และปุ๋ย 46-0-0 ราคา กก. ละ 17 20 และ 16 บาท ตามลำดับ

         3. ความชื้นของผลผลิตข้าวที่ 14%

ศาสตราจารย์ ดร. ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ

ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทรศัพท์ 0 2942 8104 – 5 แฟกซ์ 0 2942 8106

22 เมษายน 2551

ที่มา : 1. เวทีสรุปผลของโครงการบูรณาการลดต้นทุนการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง

          2. ราคาปัจจัยการผลิต ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2550

ตารางที่ 2 ปุ๋ยเคมี (กก./ไร่) และผลผลิตข้าว (กก./ไร่)

หลักคิดสำคัญ คือ พืชทุกชนิดเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงเมื่อเกษตรกรสามารถจัดการให้เกิด “ความลงตัวพอดี” ระหว่างพันธุ์พืชกับปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น วัชพืช โรคแมลงศัตรูพืช ฯลฯ

ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีมากกว่า 200 ชุดดิน (Soil series) แต่ละชุดดินมีศักยภาพ (พลัง) แตกต่างกัน การจำแนกชุดดินใช้สมบัติของดินที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยเฉพาะสมบัติของดินชั้นล่าง ได้แก่ เนื้อดิน สีดิน ความลึก ความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น ข้อมูลชุดดินจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ซึ่งแตกต่างจากความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ผันแปรไปตามการใช้ประโยชน์ที่ดินและวิธีการจัดการไร่นาของเกษตรกร

ตัวอย่างเช่น เกษตรกร 3 รายปลูกข้าวในชุดดินนครปฐมที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่ากัน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ถ้าลุงมี...ไถกลบฟางข้าว แต่ลุงมา...เผาฟางข้าว ส่วนลุงแม้น...ขนฟางข้าวออกไปใช้ปลูกผัก ย่อมส่งผลให้การปลูกข้าวในฤดูต่อไปใช้ปุ๋ยแตกต่างกัน ทั้งสูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ย

การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” คือ การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ โดยการนำข้อมูลชุดดินและข้อมูล เอ็น-พี-เค ในดินมาประกอบการตัดสินใจเลือกสูตรปุ๋ยและกำหนดปริมาณปุ๋ยสำหรับการปลูกพืช เป็นการใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดินและค่าวิเคราะห์ดิน

จากการสำรวจพบว่า การใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลางเกินความจำเป็นถึงเท่าตัว โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ ล้มง่าย โรคแมลงระบาด ขณะที่ข้าวที่ปลูกในดินเหนียวหลายพื้นที่เริ่มแสดงอาการขาดโพแทสเซียม (เมล็ดลีบ) 

ในปี 2550 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธ.ก.ส. และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน จัดทำโครงการบูรณาการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง จากการระดมความคิดของชาวนาที่เป็นตัวแทนจาก 8 จังหวัด สรุปว่า

ควรปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง และถ้าต้องการลดต้นทุนการทำนาลงร้อยละ 20 โดยผลผลิตข้าวไม่ลดลง ต้องดูแล 4 “จุดคอขวด” ดังนี้

1. เมล็ดพันธุ์ข้าว ปัญหาคุณภาพ (เมล็ดข้าวดีดข้าวเด้ง) และใช้อัตราเมล็ดพันธุ์มากเกินไป แนะนำให้ใช้เมล็ดพันธุ์ 20-25 กก.ต่อไร่

2. การปรับปรุงบำรุงดิน ปัญหาการเผาฟางข้าว แนะนำให้ไถกลบหรือหมักฟางในนา และเร่งการผุพังสลายตัวด้วยน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดปุ๋ย “เอ็น” ลงได้อีกมาก ทั้งยังช่วยลดการระบาดของหนอนกอ ส่วนดินที่เสื่อมโทรม ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง ถั่วมะแฮะ ฯลฯ

3. ปุ๋ยเคมี ปัญหาใช้ปุ๋ยเคมีไม่ตรงกับความต้องการของข้าว ทั้งสูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ย “เอ็น” ใช้เกิน 2-3 เท่าตัว และต้องใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 (ปุ๋ยแต่งหน้า) ให้ตรงเวลาด้วย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ในวันที่ 60 นับถอยหลังจากวันเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นระยะกำเนิดช่อดอกของข้าว

4. สารฆ่าแมลง ปัญหาใช้สารฆ่าแมลงเกินความจำเป็น ปัญหานี้ลดลงมาก เมื่อใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพในอัตราที่เหมาะสม และใช้ปุ๋ยเคมีถูกต้อง แนะนำให้สำรวจแมลงศัตรูข้าวก่อนฉีดพ่นสารฆ่าแมลง

ผลการทดลองพบว่า เมื่อชาวนาดูแลจัดการ 4 “จุดคอขวด” ดังกล่าวได้ดี ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี และค่าสารฆ่าแมลง 91, 241 และ 178 บาทตามลำดับ ถ้าชาวนาในเขตชลประทาน (15 ล้านไร่) ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” จะส่งผลให้ลดต้นทุนการปลูกข้าว ได้ปีละมากกว่า 15, 000 ล้านบาท (ตารางที่ 1)

ในปี 2549 และ 2550 ศ. ดร. ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ ได้ทดลองปลูกข้าว 162 แปลงในเขตชลประทานภาคกลาง และสรุปผลการวิจัยไว้ดังนี้

1. ชาวนาควรลดปริมาณการใช้ปุ๋ย “เอ็น” และ “พี” ลงร้อยละ 65 และ 43 ตามลำดับ แต่ควรใส่ปุ๋ย “เค” เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ของปริมาณธาตุอาหารพืชชนิดนั้นๆ ที่เกษตรกรใช้อยู่

2. การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 47 คิดเป็นค่าปุ๋ย 370 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก หรือลดลงจาก 800 บาท เหลือ 430 บาท ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งจะส่งผลให้ประหยัดค่าปุ๋ยสำหรับการปลูกข้าวในเขตชลประทานได้ปีละมากกว่า 11,100 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

การใช้ปุ๋ยแบบ “สั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน สอบถามข้อมูลชุดดินได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือใช้คู่มือตรวจสอบชุดดินที่ทีมงานได้จัดทำขึ้น ทั้งดินไร่และดินนา

ขั้นที่ 2 ตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน เก็บตัวอย่างดิน และวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบ N-P-K ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 นาที

ขั้นที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ปุ๋ย หรือโปรแกรม SimRice ในเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th (หรือ www.ssnmthai.com ในปัจจุบัน) และสอบถามรายละเอียดได้ที่ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0 2942 8104 – 5 แฟกซ์ 0 2942 8106

หมายเหตุ ควรวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกข้าวทุกครั้ง (3-4 ครั้งแรก) เพื่อปรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพของดินในนา โดยสังเกตการเจริญเติบโตของข้าว หลังจากนั้นควรวิเคราะห์ดินทุกๆ 2 ปี

ฉะนั้น ควรใช้วิกฤตที่ปุ๋ยมีราคาแพงเป็นโอกาสใน “การเคลื่อนใจ เคลื่อนความคิด” ของชาวนาให้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ดิน” เพราะ “ถ้าดินดี ย่อมใช้ปุ๋ยน้อย ต้นทุนการผลิตต่ำ” และเร่งส่งเสริมให้ชาวนาผลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของผืนนา รวมทั้งสร้างโอกาส บรรยากาศ และปัจจัยเกื้อหนุน ให้ชาวนาได้ยกระดับความรู้ด้านดินและปุ๋ย เพราะ “ถ้าไม่รู้จักดิน ไม่รู้จักปุ๋ย จะปรับปรุงดิน หรือใช้ปุ๋ยให้มี

ประสิทธิภาพได้อย่างไร?”

ตารางที่ 1 ต้นทุนการผลิตข้าวที่ลดลง (บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก)