เกษตรยุคใหม่ - ให้ปุ๋ยแบบสั่งตัด

ยุคที่ปุ๋ยแพงอย่างวันนี้ ก็เลยมีหลายหน่วยงานออกมาทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการลดอัตราการใช้ปุ๋ยลง มีทั้งแบบที่เอาผลงานเก่าๆ

หลายปีมาแล้วมาปัดฝุ่นใหม่ หรือบางทีละเลยการสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ไปนาน แล้วก็พยายามใช้แนวคิดเก่าๆ มาแนะนำเพื่อให้ไม่ตกกระแส แต่ทั้งหมดนี้ ไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

มีงานส่วนหนึ่งที่ทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยการสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัยแห่งชาติ ( สกว.) มี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ เป็นหัวหน้าโครงการ นั่นก็คือการจัดการธาตุอาหารของข้าว โดยอาศัยค่าการวิเคราะห์ดินเป็นหลัก หรือจะให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ แนวคิดของการใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชในดินแต่ละชนิด หากมองเปรียบเทียบกับเรื่องของเสื้อผ้า ก็เหมือนการพัฒนาวิธีการให้ปุ๋ยแบบเดียวกับการสั่งตัดเสื้อผ้าให้ตรงตามขนาดของผู้ใช้นั่นเอง แทนที่จะทำแบบเดิมคือตัดเสื้อโหล แล้วให้ทุกคนใส่ได้หมด ซึ่งในความเป็นจริงของโลกแล้ว ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

หลังจากที่แนวคิดนี้ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วในแปลงของเกษตรกรหลายจังหวัด ก็เลยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ เราสามารถลดการใช้ปุ๋ยบางตัวลงได้ และเพิ่มธาตุอาหารบางตัวเข้าไป ปรากฏว่าต้นทุนค่าปุ๋ยลดลงไปมาก แต่ขณะเดียวกันผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น แสดงว่าที่ผ่านมาเราใช้ปุ๋ยผิดวิธีมาโดยตลอด ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อก่อนปุ๋ยยังไม่แพงเหมือนปัจจุบัน ก็เลยไม่ค่อยมีใครสนใจวิธีการลดปุ๋ยแบบนี้เท่าไรนัก

มาวันนี้ แนวคิดดังกล่าวเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะว่าได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดี ในที่สุดทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้รับแนวคิดนี้ไปขยายผลในพื้นที่นาในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ 2 แสนไร่ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการวิจัย ที่จะให้มีการวิเคราะห์ดินนาก่อน แล้วจึงใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้สำหรับดินแต่ละชนิด ฟังดูแล้วเหมือนกับว่ายาก และชาวนาคงไม่มีทางทำได้

อย่าเพิ่งไปดูถูกชาวนาครับ เพราะว่าทางโครงการนี้ได้พัฒนาวิธีการต่างๆ ที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง โดยไม่ต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ดังนั้นเริ่มตั้งแต่เกษตรกรสามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ดินอย่างง่ายและรู้ผลเร็วภายในไม่เกินครึ่งชั่วโมง ประกอบกับตารางคำแนะนำอัตราการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ และมีคู่มือช่วยในการบอกชุดดินอีกว่า ดินที่นำมาวิเคราะห์นั้นอยู่ในชุดดินอะไร และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ถึงขั้นที่เกษตรกรโทรสอบถามได้แล้วว่าดินของตัวเองเป็นดินชุดอะไรผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเอาไว้วันหลังจะเล่าให้ฟังครับ

หลังจากที่ได้เริ่มโครงการขยายผลที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปรากฏว่าทาง ส.ป.ก.เห็นลู่ทางขยายผลต่อไปอีก จึงได้เปิดโครงการเพิ่มผลผลิตข้าวและลดต้นทุนการผลิตในเขตพื้นที่ของ ส.ป.ก. ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง โดยรวมแล้วมีพื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านไร่ โดยที่จะให้มีการลดต้นทุน 2-3 อย่าง คือเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ลดการเผาฟาง และที่สำคัญคือการจัดการปุ๋ยโดยอาศัยค่าวิเคราะห์ดินตามองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของ ศ.ดร.ทัศนีย์เป็นหลัก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ โดยที่โครงการนี้จะเริ่มเปิดตัวในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่ จ.สุพรรณบุรี

หลังจากนั้นอีกไม่นาน เราก็จะได้ทราบกันว่าในพื้นที่ 1 ล้านไร่นี้ จะลดต้นทุนทั้งค่าปุ๋ยและค่าเมล็ดพันธุ์และเพิ่มผลผลิตได้คิดเป็นเงินแล้วมากขนาดไหน เพื่อที่จะได้ขยายผลไปที่อื่นๆ อีกต่อไป คิดง่ายๆ จากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ในบางพื้นที่ภาคกลางสามารถลดต้นทุนได้ไร่ละกว่า 500 บาท ดังนั้นถ้าทำถึง 1 ล้านไร่ ก็คาดได้ว่าต้นทุนน่าจะลดได้ถึง 500 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำครับ

สนใจการให้ปุ๋ยแบบสั่งตัด ไปฟังได้ครับ ที่ห้องสุธรรม อารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน ในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ทางสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยร่วมกับ มก.และสมาคมปุ๋ยฯ จัดสัมมนา ขึ้นมาทั้งวัน งานนี้ฟังฟรีครับ แจ้งชื่อได้ที่โทร.0-2940-5425-6

รศ.ดร.พีระเดช ทองอำไพ

นสพ. คมชัดลึก 19 พฤษภาคม 2551