ก่อนตายอยากเห็นเกษตรกรรวยขึ้น วาทะนักเทคโนโลยีดีเด่น 52

ตัวแทนกลุ่ม "ปุ๋ยสั่งตัด" ผู้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น '52  เผยความในใจ ก่อนตายอยากเห็นเกษตรกรรวยขึ้น" เผยเกษตรกรไทยยังไม่รู้จักปุ๋ยและดิน แจงอบรมให้ความรู้เกษตรกรเพื่อการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับดิน


ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 12 ต.ค.52 ณ โรงแรมอโนมา ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่มได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" จาก 15 หน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น


ส่วนประเภทบุคคลได้แก่ รศ.นพ.สิทธิกร บุณยนิตย์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากผลงานแผ่นไฮโดรเจลห้ามเลือดระหว่างผ่าตัดสำหรับอวัยวะภายในซึ่งผลิตจากแป้งข้าวเจ้า และวัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้จากแป้งข้าวเจ้า

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" (ซ้าย)

และ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ สมาชิกกลุ่มเทคโนโลยีจากมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์ จากภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเกษตรกรไทยยีงมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับดินปุ๋ยน้อยมาก บางคนไม่ทราบว่าปุ๋ยคืออะไร รู้แค่ว่าต้องใส่ บางคนไม่ทราบว่า NPK (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม) คืออะไร และยังใช้แบบไม่วิเคราะห์ดินก่อน หรือที่เรียกว่า "ปุ๋ยเสื้อโหล" แต่เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยเกษตรกรวิเคราะห์ดินและปุ๋ยที่เหมาะสมกับดินได้ ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น


"การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมจะช่วยเกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมี ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของปุ๋ยเคมี และช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ และทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งมองไปไกลกว่านั้นการซื้อเสียงจะลดลง แต่พบว่าเกษตรกรยังใช้ปุ๋ยในสัดส่วนไม่เหมาะสม ชาวนาใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเกินจำเป็นถึง 65% และ 43% ตามลำดับ แต่ไม่ใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม ทำให้ข้าวได้เมล็ดลีบ แม้ว่าใบจะเขียว ซึ่งใบเขียวไม่ได้หมายถึงจะได้ผลิตดี และแมลงยังรุมกินอีก ทั้งทั้งใช้ไนโตรเจนเยอะๆ ยังทำให้ข้าวล้มด้วย" ศ.ดร.ทัศนีย์กล่าว


สำหรับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดนั้น อันดับแรกเกษตรกรต้องตรวจข้อมูลชุดดิน (Soil Series) ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้จำแนกถึง 200 กว่าชื่อ เช่น "ดินปากช่อง" เป็นดินเหนียวสีแดง ระบายน้ำดีแต่ธาตุอาหารน้อย เป็นต้น จากนั้นนำดินในพื้นที่เพาะปลูกไปวิเคราะห์หาธาตุอาหาร NPK ด้วยชุดทดสอบที่กลุ่มพัฒนาขึ้น แล้ววิเคราะห์ว่าต้องใช้ปุ๋ยในสัดส่วนเท่าไหร่จากคู่มือหรือโปรแกรมคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" ซึ่งยังวิเคราะห์ได้ว่าผลผลิตจะออกมาเป็นเท่าไหร่


ขณะนี้ โปรแกรมปุ๋ยสั่งตัดให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับข้าว ข้าวโพดและอ้อยได้แล้ว และกำลังพัฒนาเพื่อการวิเคราะห์ปุ๋ยสำหรับมันสำปะหลังและอ้อยตะวันตกหรืออ้อยสำหรับปลูกในภาคตะวันตกของไทย โดยสำนักตะค้า จ.สุพรรรบุรี คือตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลสำเร็จจากโปรแกรมวิเคราะห์ปุ๋ยสั่งตัดนี้ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ จากเดิมที่มีรายได้เพียง 200-300 บาทต่อไร่


ศ.ดร.ทัศนีย์ในวัย 65 ปีซึ่งเกษียณราชการ 2 รอบแล้วนั้น บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ยังคงทำงาน โดยอบรมแก่เกษตรกรเรื่องปุ๋ยสั่งตัดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ผ่านการทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับมูลนิธิพระดาบส


อีกทั้ง ดร.ทัศนย์ยังบอกเจตนารมย์ว่า "ก่อนตายอยากเห็นเกษตรกรรวยขึ้น" พร้อมทั้งเปรียบเทียบความเป็นอยู่ของเกษตรกรในต่างประเทศ อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นว่า เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งมีความรู้ระดับปริญญาเอก และทำเกษตรอย่างแม่นยำ คือวิเคราะห์สภาพดินก่อนใช้ปุ๋ย


ต่างกันที่เกษตรกรในต่างประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ขณะที่เกษตรกรไทยมีพื้นที่ในการเพาะปลูกเพียงไม่กี่ไร่ แต่ก็สามารถทำเกษตรแบบแม่นยำได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจาก อบต.ในการลงทุนด้านโปรแกรมและชุดวิเคราะห์ดิน


ทางด้าน รศ.นพ.สุทธิพรกล่าวถึงผลงานของตนเองว่า เลือกใช้ข้าวเจ้าเป็นวัตถุดิบในการผลิตชีววัสดุทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบในประเทศ มีความปลอดภัยและมีความแข็งแรงในระดับที่ผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ได้ โดยเลือกแป้งข้าวเจ้าบริสุทธิ์ที่มีเพียงคาร์โบไฮเดรตมาพัฒนาเป็นวัสดุห้ามเลือดอวัยวะภายในระหว่างผ่าตัด ซึ่งเมื่อวัสดุห้ามเลือดนี้สัมผัสของเหลวจะกลายเป็น "กรดแก่" ที่มีค่า pH ต่ำกว่า 2 ทำให้เลือดกลายเป็นลิ่มและมีความดันเลือดลดลง ส่วนวัสดุเย็บแผลนั้นนำแป้งข้าวเจ้าบริสุทธิ์ผสมกับนาโนคาร์บอนจากถ่าน เพื่อเพิ่มความแข็งแรง แต่วัสดุชนิดหลังนั้นยังอยุ่ในขั้นตอนของการพัฒนา


พร้อมกันนี้ ยังมีรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ซึ่งปีนี้ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ ผศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ จากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผลงานพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะด้วยกระบวนการหล่อโลหะกึ่งของแข็ง เพิ่มศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย และประยุกต์ใช้ทางทหารได้


ยังมี ดร.ฉันท์ทิพ คำนวณทิพย์ จากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งมีผลงานพัฒนาอะคริลิกนำแสงประหยัดพลังงาน โดยใช้สารช่วยกระแสง ทำให้แผ่นอะคริลิกให้ความสว่างจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ได้


สำหรับผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ทั้ง 4 คนนี้ จะเข้ารางวัลประติมากรรมเรือใบซูเปอร์มดและเหรียญรางวัลเรือใบซูเปอร์มด ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 35 (วทท.35) ณ โรงแรมเดอะ ไทด์ รีสอร์ท จ.ชลบุรี วันที่ 15 ต.ค.52


ผู้จัดการออนไลน์

12 ตุลาคม 2552

https://mgronline.com/science/detail/9520000120937