พบนักวิจัยปุ๋ยสั่งตัด ฟื้นรายได้เกษตรกรไทย

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ผู้คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภททีมปี52 มุ่งวิจัยใช้ในมันสำปะหลังหลังสำเร็จในข้าว ข้าวโพด อ้อย วอนเกษตรจ.ช่วยสานต่อ ตั้งเป้าเกษตรกรไทยรวย... 

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2535 หรือเมื่อหลายสิบปีก่อน ในการสัมมนาวิจัยของต่างประเทศ นำแบบจำลองการปลูกพืชมาให้ดู โดยสามารถจะปลูกพืชในคอมพิวเตอร์ได้ จึงเกิดความคิดเช่นเดียวกัน จนผ่านมาถึงปี 2540 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว.เริ่มตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งให้เงินทุนนักวิจัย 3 ปี ด้วยจำนวนเงิน 10 ล้านบาท 

ด้วยแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้มองการณ์ไกลระดับโลก จึงไม่คิดจดสิทิบัตร โดยหวังว่า จะเกิดเป็นวิทยาทานแก่คนทั่วโลก ได้นำไปใช้พัฒนาด้านการเกษตรอย่างเป็นประโยชน์ ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่า ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ผู้คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภททีม ปี 2552 ไปครอง ส่วนรายละเอียดของเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ลองมาติดตามได้ ณ บัดนี้...

IT digest : กรอบแนวความคิดของกลุ่มเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด

ทัศนีย์ : หลักคิดพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัด ได้จากการเกษตรแม่นยำ ที่เกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกาถือปฏิบัติมากว่า 10 ปี โดยนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพไร่นาขนาดเล็กในประเทศไทย เริ่มจากการใช้แบบจำลอง DSSAT(Decision Support System for Agrotechnology Transfer) พัฒนาคำแนะนำปุ๋ยไนโตรเจน ใช้โปรแกรม PDSS (Phosphorus Decision Support System) พัฒนาคำแนะนำปุ๋ยโพแทสเซียม เฉพาะพื้นที่ขึ้น 

IT digest : จุดเด่นของกลุ่มเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด คืออะไร

ทัศนีย์ : ชุดตรวจสอบ ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) ในดินช่วยให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง สะดวก รวดเร็ว ประหยัดและราคาถูกกว่าของต่างประเทศ ทั้งยังใช้จัดการเรียนการสอในระดับมัธยมด้วย ทั้งนี้ ยังช่วยให้ใช้ปุ๋ยได้เหมาะกับดินและพืช ทำให้การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดลง ไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนโปรแกรมคำแนะนำ ปุ๋ยสั่งตัด ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้ตั้งแต่ก่อนปลูกพืช ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตอบได้ว่าถ้าใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ จะได้ผลผลิตเท่าไร และเมื่อคีย์ข้อมูลราคาปุ๋ย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และราคาของผลผลิต ก็จะได้คำตอบว่าได้กำไรเท่าไร นอกจากนี้ คำแนะนำ ปุ๋ยสั่งตัด สามารถนำไปใช้พื้นที่อื่นๆ หรือพันธุ์พืชอื่นๆ ได้ โดยการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และเปลี่ยนฐานข้อมูลหลักที่สำคัญ เช่นเดียวกับ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ หรือแบบจำลองการปลูกพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกรทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คิดพึ่งตนเอง คิดอย่างเป็นระบบ เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและการทดลองในไร่นาด้วยตนเอง รวมทั้งการยกระดับความรู้เรื่องดิน และปุ๋ยให้แก่เกษตร สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญยิ่งในการพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้มั่นคงยั่งยืน อีกทั้ง รูปแบบการบูรณาการงานวิจัยพัฒนาเข้ากับงานส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรผู้นำทำแปลงทดสอบและแปลงสาธิต นับเป็นแปลงตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมระบบการวิจัย ที่เพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้การขยายผลงานวิจัยได้ง่ายขึ้น เกิดผลงานวิชาการตีพิมพ์ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งผลพลอยได้จากงานวิจัยในรูปของการสื่อสารศึกษาสำหรับเกษตรกร 

IT digest : อธิบายขั้นตอนการใช้งานของปุ๋ยสั่งตัด

ทัศนีย์ : มี  3 ขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน ใช้คู่มือสำรวจชุดดินในภาคสนามอย่างง่าย  สอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.soil.doae.go.th 2.ตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน ใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดิน แบบรวดเร็ว ซึ่งเกษตรกร วิเคราะห์ได้ด้วยตนเองภายใน 30 นาที และ3.ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือโปรแกรมคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ดาวน์โหลดโปรแกรมได้ฟรีจากเว็บ www.ssnm.agr.ku.ac.th (หรือ www.ssnmthai.com ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช 3 ฤดูปลูกติดต่อกัน เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากนั้นแนะนำว่าต้องวิเคราะห์   

IT digest : มองภาพรวมเกษตรในประเทศไทย

ทัศนีย์ : ภาพรวมของเกษตรไทยทุกวันนี้ เท่าที่ได้สัมผัส พบว่า เกษตรไทยคงต้องพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองอีกมาก เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะ การเปิดการค้าเสรีเร็ว ๆนี้ สิ่งที่ต้องแข่งขันในภาคการเกษตร คือ ต้องลดต้นทุนการผลิต เพราะถ้าของประเทศไทยแพงก็คงไม่มีใครซื้อ เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดที่พัฒนาขึ้นมากว่า 10 ปี จะช่วยลดต้นทุนการผลิต นี่คือ ผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจน ทั้งนี้ ในนาชลประทาน สามารถลดต้นทุนได้กว่า 500  บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก หากทำ 2 ครั้ง ก็จะลดได้ถึง 1 พันบาท รวมค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ โยเป็นผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำเมื่อ ปี 2550  ของเกษตรกรทั้งหมด 8 จังหวัด ภาคกลาง ส่วนกรณีของข้าวโพด เกษตรกรจะได้รับผลผลิตสูงขึ้น 35-200% เท่าที่ไปทำมา แต่ปัญหาฝนแล้งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรหนีไปปลูกพืชอื่นแทน เพราะฉะนั้น พื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์จะลดลง จากที่เคยทำวิจัยไว้เมื่อปี 2540 มีพื้นที่ปลูกข้าวโพด ประมาณ 10 ล้านไร่ ขณะนี้ เหลืออยู่เพียง 6 ล้านไร่ ไปปลูกมันสำปะหลังแทน เพราะทนแล้งได้ดีกว่า อีกทั้ง ยังมีอ้อย อีกตัวหนึ่งในภาคอีสานที่เป็นปุ๋ยสังตัด โดยโปรแกรมเพิ่งเสร็จปี 2552 จึงได้ทำงานกับเกษตรกรโดยนักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร พบว่า เกษตรกร ปลูกอ้อยสามารถเพิ่มผลผลิตได้ 2 ตันต่อไร่ และกำไรมากขึ้น 2 พันบาทต่อไร่ 

IT digest : ปุ๋ยสั่งตัดใช้ได้กับพืชชนิดใดได้บ้าง 

ทัศนีย์ : 3 พืช คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อยอีสาน และขณะนี้ นักวิจัยกำลังทำวิจัยอ้อยภาคตะวันตก และจะทำปุ๋ยสั่งตัดใช้กับมันสำปะหลัง เร็วๆ นี้ เนื่องจากดินแต่ละภาคไม่เหมือนกัน จึงต้องวิจัยเพิ่มเติม สำหรับภาคที่น่าเป็นห่วงที่สุด มองได้หลายอย่าง เช่น ความยากจน ความด้อยโอกาส ต้องภาคอีสาน แต่ถ้าจะมองว่า จะเกิดผลชัดเจน ที่จะทำให้มีฐานะดีขึ้น ลดต้นทุนการผลิต คือ ภาคกลาง นอกจากข้าวที่ปลูกเป็นอันดับ 1 แล้ว ยังมียางพารามันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยสั่งตัดต้องดูพืชอันดับแรก ทั้งนี้ ไม่สามารถนำคำแนะนำไปใช้ร่วมกันได้ เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการปริมาณอาหารสร้างผลผลิตไม่เท่ากัน และต้องขึ้นอยู่กับดินด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ต้องมีความรู้เรื่องดินอยู่แล้ว โดยสอบถามถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 

IT digest : วางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่เกษตรกรอย่างไรบ้าง 

ทัศนีย์ : เริ่มจากปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกร เพราะเกษตรกรยังงมีความเชื่อดั้งเดิม ถ้าเข้าไปให้ใช้เทคโนโลยีเลยจะไม่เชื่อ จึงต้องให้เรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อการแข่งขันในในโลก จากนั้นก็ให้ลงมือทำ แล้วถ้าผลออกมาดีก็ให้ดำเนินการต่อไปแต่ถ้าไม่ดีก็แสดงว่าทำผิด เพราะทดสอบมาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมา การลงพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2544 ได้รับเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตรจะคัดเลือกเกษตรและนักวิชาการมาให้สอน และเกษตรกรได้รับผลตอบรับดี ใช้ปุ๋ยน้อยลง แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยไม่ถูกสัดส่วน ระหว่างเอ็นพีเค     

IT digest : ความรู้ความเข้าใจของเกษตร ต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นอย่างไรบ้าง  

ทัศนีย์ : เกษตรกรมีความรู้เรื่องดิน และปุ๋ยน้อยมาก เมื่อเทียบกับเรื่องโรค แมลง วัชพืช และเมล็ดพันธุ์ เป็นปัญหามาก เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในการปรับปรุง บำรุงดิน ทำให้ดินไม่เสื่อมโทรม นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่อง ข้าววัชพืช การใช้สารเคมี ไม่ถูกต้อง ก้ให้เอกสารไปศึกษา   

IT digest : แล้วเกษตรจังหวัดมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง

ทัศนีย์ : เกษตรกรส่วนใหญ่ชื่นชอบ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ แต่กลับไปแล้ว จะเกิดปัญหามากมาย จึงต้องการให้เกษตรจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นช่วยดูว่า เกษตรติดปัญหาอะไร ทั้งนี้ รับหลักการ แต่ฟังรอบเดียว ไม่เพียงพอ ดังนั้นนักวิชาการท้องถิ่นต้องเข้าไปช่วยดูแลเกษตรเพื่ออำนวยเท่าที่จะทำได้ อาทิ ชุดตรวจสอบ การให้ความรู้ในการเก็บดิน การรู้จักชื่อดิน อย่างไรก็ตามเกษตร สามารถทำเองได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมกลุ่ม แล้วเข้มแข็ง ไม่ต้องพึ่งนักวิชาการ 

IT digest : เป้าหมายสูงสุดของเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด คืออะไร

ทัศนีย์ : ต้องการให้เกษตรไทยมีฐานะปานกลาง ถึงรวย มีชีวิตสุขสบาย เหมือนเกษตรในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำงานวิจัยเรื่องนี้มากว่า 8 ปี แต่ก็ยังเห็นผลเกิดขึ้นในทางที่ดีค่อนข้างช้า ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า เกิดอุปสรรคบางประการ ดังนั้น จึงต้องอาศัยหน่วยงานราชการ และเอกชน ทุกฝ่าย 

IT digest : ถามถึงงบประมาณที่ใช้อบรมเกษตรกร

ทัศนีย์ : ได้มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อบรมเกษตรกรประมาณ 100 คน ภาคกลาง มีค่าอาหาร ค่ารถ ค่าวิทยากร เอกสารประกอบ อยู่ที่ประมาณ 3-5 หมื่นบาท แต่ถ้าไปไกลก็เพิ่มค่าน้ำมันรถขึ้นอีก ส่วนการลงพื้นที่ต่ำสุดอยู่ที่ 2 คน มากสุดอยู่ที่ 10 คน โดยมีนิสิต เข้าไปช่วย ทั้งนี้ ไม่สามารถตั้งเป้าการอบรมได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ขณะที่กำลังทำเรื่องของงบประมาณจากรัฐบาล 

IT digest : ฝากอะไรถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์บ้าง 

ทัศนีย์ : อยากฝากถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบว่า ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรมืออาชีพอย่างเร่งด่วน ส่วนวิธีการทำ คือ หาคนเก่งแต่ละพื้นที่มาฝึกอบรมความรู้ที่ถูกต้อง แล้วกลับไปถ่ายทอดในกลุ่ม ให้พึ่งตนเองได้ เกิดการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย อีกทั้ง ต้องปรับปรุง บำรุงดินอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้น อนาคตทิสทางการเกษตรประเทศไทยจะสู้ต่างประเทศไม่ได้

ไทยรัฐออนไลน์

11 พฤศจิกายน 2552