เกษตรยุคใหม่: ลดต้นทุนปุ๋ยในข้าวโพด

คราวที่แล้วได้พูดถึงเรื่องต้นทุนในการผลิตข้าวโพดของหลายอำเภอในพิษณุโลก ที่พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งเป็นต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปก็มีแต่จะขาดทุน พอดี สกว. เคยสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยในข้าวโพดตามค่าการวิเคราะห์ดินและตามความต้องการของข้าวโพดในดินแต่ละชนิด 

โดยมี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำมาหลายปีแล้ว แต่เป็นพื้นที่อื่น เช่น นครราชสีมา ซึ่งมีลักษณะดินและภูมิประเทศต่างจากพิษณุโลก จึงได้เชิญ ดร.ทัศนีย์ และทีมงานไปพบเกษตรกรที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และหารือกันว่าตอนนี้เรามีความรู้เรื่องการจัดการปุ๋ยและสามารถลดต้นทุน รวมทั้งเพิ่มผลผลิตข้าวโพดได้ โดยมีตัวอย่างความสำเร็จในหลายพื้นที่มาแล้ว หากสนใจจะได้นำมาขยายผลที่นครไทยต่อไป ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเกษตรกรที่นั่น และอยากเข้าร่วมโครงการเพราะว่าตอนนี้หากไม่สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้ ก็คงไม่สามารถปลูกข้าวโพดกันต่อไปได้แล้ว

พื้นที่ของนครไทยเป็นพื้นที่ลาดชัน หรือที่เรียกว่าเนินเขา ไม่ใช่พื้นราบเหมือนที่อื่น และพื้นที่เหล่านี้หลายแห่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ส.ป.ก. ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะจะได้สร้างความร่วมมือกับ ส.ป.ก. ในการพัฒนาการใช้ปุ๋ยในพื้นที่ลาดชันอย่างนั้นให้ได้ผลดีเพื่อจะได้เป็นตัวอย่างหรือต้นแบบต่อไป

ทั้งนี้ การใช้ความรู้เดิมเรื่องการจัดการปุ๋ยที่เคยได้ผลในพื้นที่ราบที่อื่นมาใช้ในพื้นที่ลาดชัน ก็คงไม่ได้ผลเหมือนกันอย่างแน่นอน เพราะจะมีประเด็นเรื่องการชะล้างหน้าดินเป็นเรื่องสำคัญ

ดังนั้นนอกจากจะต้องสอนให้ชาวบ้านวิเคราะห์ดินเป็นแล้ว ยังต้องให้ความรู้เรื่องการจัดการพังทลายของหน้าดิน รวมทั้งวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องด้วย เนื่องจากว่าแต่เดิมนั้น การใสปุ๋ยก็ทำโดยการหว่านแล้วไม่มีการไถกลบ พอฝนตกลงมาก็ชะล้างปุ๋ยเหล่านั้นลงพื้นราบหมด เรียกได้ว่าใส่ปุ๋ยเพื่อไปให้คนอื่นที่อยู่ด้านล่างลงไปได้ประโยชน์ วิธีการที่ถูกต้องคือต้องฝังกลบ ปัญหาคือจะใช้แรงงานที่ไหนมาคอยกลบปุ๋ย จึงได้หารือกันว่าจะมีการออกแบบเครื่องมือใส่ปุ๋ยแล้วฝังกลบอย่างง่ายให้ชาวบ้านได้ใช้ โดยเบาแรงที่สุดและไม่ต้องยุ่งยากมากรวมทั้งแน่นอนว่าราคาต้องไม่แพง ตอนนี้กำลังมีนักวิชาการดำเนินการเรื่องนี้อยู่ เรื่องการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน แล้วประเมินว่าควรให้ปุ๋ยเท่าใดนั้น ได้มีการศึกษามามากในหลายหน่วยงาน แต่งานที่ ดร.ทัศนีย์ ทำนั้น เรียกว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” หมายความว่าเป็นการให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมโดยดูความจำเพาะของแต่ละพื้นที่ ว่ามีความต้องการและความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด แถมยังสามารถประมาณการได้ด้วยว่าหากใช้ปุ๋ยตามที่แนะนำแล้ว ผลผลิตที่คาดว่าจะได้ควรเป็นเท่าใด

เรื่องของ “ปุ๋ยสั่งตัด” นอกจากจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ดินเป็นส่วนหนึ่งแล้ว ยังต้องดูว่าดินนั้น มีคุณสมบัติอื่นอย่างไร ซึ่งดูได้จากชุดดิน แล้วต้องประเมินว่าพืชที่ปลูกคืออะไร และพันธุ์อะไร เพราะว่าแต่ละพืชแต่ละพันธุ์มีการตอบสนองต่อปุ๋ยไม่เหมือนกัน จากนั้นจึงสามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรใส่ไนโตรเจนเท่าใด ให้ฟอสฟอรัสมากน้อยแค่ไหน และควรใส่โพแทสเซียมอีกเท่าใด

จะเห็นได้ว่านักวิจัยไม่ได้แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จที่มีขายกันตามท้องตลาด ซึ่งหากใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จเหล่านั้น ก็เหมือนกับ “เสื้อเหมาโหล” ไม่ใช่ “สั่งตัด” อย่างที่เล่ามา และที่สำคัญคือปุ๋ยสูตรสำเร็จเหล่านั้น เมื่อเปรียบเทียบต่อหน่วยน้ำหนักปุ๋ยที่เท่ากันแล้ว ก็ย่อมแพงกว่าการใช้แม่ปุ๋ยแต่ละตัวมาผสมกันให้ได้สูตรตามที่ต้องการซึ่งอิงอยู่บนคำแนะนำที่ได้ ดังนั้นการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น หรือน้อยกว่าความต้องการก็น่าจะหมดไป

ผลก็คือ ประหยัดปุ๋ยในขณะที่ผลผลิตที่ได้ดีขึ้นครับ!