โครงการปุ๋ยลดต้นทุน : "จุดเปลี่ยน" การใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทย

ในบรรดาปัจจัยที่ใช้ในการเพาะปลูกพืช เกษตรกรรู้จักดินรู้จักปุ๋ยน้อยที่สุด เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของดิน ได้แก่ อินทรียวัตถุ แร่ธาตุ น้ำและอากาศ มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินและบนดิน รวมทั้งปุ๋ยเคมีที่ขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตขายในท้องตลาดมีเกือบ 800 สูตร

ถึงแม้ว่าความรู้ทางวิชาการด้านดินและปุ๋ยมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ถูกจำกัดอยู่ในแวดวงของนักวิชาการและเกษตรกรผู้นำเท่านั้น เพราะอธิบายให้เข้าใจได้ยาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงยังคงขาดความรู้เรื่องดินและปุ๋ย

ดินในพื้นที่การเกษตรแบ่งออกเป็นดินนาและดินไร่ การจำแนกดินใช้สมบัติของดินที่เปลี่ยนแปลงยาก เช่น เนื้อดิน(ดินทราย ดินร่วน ดินเหนียว) สีดิน ความลึก (ดินตื้น ดินลึก) ฯลฯ ข้อมูลชุดดินจึงไม่เปลี่ยนแปลง ต่างจากความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ผันแปรไปตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการไร่นาของเกษตรกร การใช้ปุ๋ย หรือแม้แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมดังนั้น เกษตรกรควรวิเคราะห์ดินก่อนการใส่ปุ๋ยในทุกๆ 2 ปี

กรมพัฒนาที่ดินได้จำแนกดินในพื้นที่การเกษตรไว้มากกว่า 200 ชุดดิน (Soil series) เป็นดินนาและดินไร่อย่างละเท่าๆ กัน แต่ละชุดดินมีศักยภาพ (พลัง) และข้อจำกัดแตกต่างกัน โดยเฉพาะความสามารถในการให้ธาตุอาหารและน้ำแก่พืช หรือการปลดปล่อยปุ๋ยให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ และความลึกของดินก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ตัวอย่างเช่น ดินชุดสกลนคร (Sk) มีชั้นศิลาแลงแบบแน่นทึบอยู่ที่ความลึกไม่เกิน 50 ซม. ไม่แนะนำให้ปลูกไม้ผลและยางพารา แต่ชุดดินโพนพิสัย (Pp) ซึ่งคล้ายชุดดินสกลนคร แต่ชั้นศิลาแลงเป็นหินผุมีรูพรุน ใช้ปลูกยางพาราได้ ข้อมูลชุดดินจึงเป็นประโยชน์ในการวางแผนการใช้ที่ดิน และควรนำมาใช้ในการกำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยด้วย

การตั้งชื่อชุดดินมักใช้ชื่อสถานที่ที่พบชุดดินนั้นเป็นครั้งแรกและมีพื้นที่มากกว่า 12,500 ไร่ เช่น ชุดดินอยุธยา (Ay) และชุดดินเสนา (Se) พบครั้งแรกที่อำเภอเมืองและอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ หลังจากนั้น เมื่อพบชุดดินดังกล่าวในพื้นที่อื่น ก็ยังคงใช้ชื่อเดิม ซึ่งทุกจังหวัดที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำในภาคกลางมีสองชุดดินนี้

นอกจากวัตถุต้นกำเนิดดินแล้ว สภาพภูมิประเทศก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสมบัติของดิน จังหวัดที่มีพื้นที่ราบจะมีจำนวนชุดดินน้อยกว่าจังหวัดที่มีพื้นที่ลาดเอียงเป็นลูกคลื่นหรือมีภูเขา เช่น จังหวัดอยุธยามี 17 ชุดดิน ขณะที่จังหวัดอุทัยธานีมี 44 ชุดดิน เป็นต้น

ในการกำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้เพียงความอุดมสมบูรณ์ของดินบนเท่านั้น เพราะรากพืชส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณนี้ ข้าวที่ระดับความลึก 0-10 ซม. ข้าวโพดและมันสำปะหลัง 0-15 ซม. ไม้ผลและยางพารา 0-30 ซม. ค่าวิเคราะห์ดินเป็นสิ่งสมมุติ หรือ "มาตร" (Scale) ที่ใช้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่สิ่งสำคัญ คือ วิธีการแปลผล (Interpretation) จากค่าวิเคราะห์ดินเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ย ซึ่งต้องการการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ระหว่างปี 2540-2551 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุน ศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์และคณะ ให้ประดิษฐ์ “ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว” เพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงและความล่าช้าของการวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการ โดยให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ทีมงานวิจัยยังได้พัฒนาคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย (ภาคอีสาน) เป็นโปรแกรม "ปุ๋ยสั่งตัด" สำหรับข้าว (SimRice) ข้าวโพด (SimCorn) และอ้อย (SimCane) ซึ่งนอกจากให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยและการผสมปุ๋ยใช้เองแล้ว ยังให้ข้อมูลผลผลิตต่อไร่ที่คาดว่าจะได้รับ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เมื่อต้นทุนการผลิต ราคาปุ๋ยและราคาผลผลิตเปลี่ยนแปลงไป

คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" ได้มาจากการสร้างแบบจำลองการปลูกพืชที่สลับซับซ้อนในคอมพิวเตอร์ โดยใช้ข้อมูลชุดดินค่าวิเคราะห์ดินปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศของจังหวัด ชนิดพืช และพันธุกรรมพืช (สายพันธุ์) จึงเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำ ซึ่งทีมงานวิจัยได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2552

เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน (1) ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน สถานีพัฒนาที่ดินในทุกจังหวัดมีแผนที่ชุดดินพร้อมให้ข้อมูลหลายสิบปีแล้ว (2) วิเคราะห์ปริมาณ เอ็น-พี-เคในดินแบบรวดเร็ว ค่าน้ำยาวิเคราะห์ดินตัวอย่างละ 54 บาท (ไร่ละ 2.20 บาท) และใช้เวลาเพียง 30 นาที และ (3) ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ศึกษาจากคู่มือ หรือโปรแกรม “ปุ๋ยสั่งตัด" ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th (หรือ www.ssnmthai.com ในปัจจุบัน)  หรือ www.banrainarao.com

ถ้าต้องการคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" สำหรับข้าว ก็เพียงแต่คีย์ข้อมูลสายพันธุ์ข้าว (ไวแสง/ไม่ไวแสง) ชุดดิน และค่าวิเคราะห์ดิน แต่ถ้าต้องการคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" สำหรับข้าวโพดและอ้อย ให้คีย์ข้อมูลชื่อจังหวัด ชุดดิน และค่าวิเคราะห์ดิน เพราะชุดดินเดียวกันและค่าวิเคราะห์ดินเท่ากัน แต่ถ้าอยู่ในจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกัน คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" จะไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ชุดดินปากช่อง (Pc) ในจังหวัดสระบุรีและจังหวัดตากมีค่าวิเคราะห์ดินเท่ากัน แต่คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เหมือนกัน

"ปุ๋ยสั่งตัด" ไม่ใช่การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ตัวอย่างเช่น ถ้าชุดดินอยุธยาที่ใช้ปลูกข้าว มีค่าวิเคราะห์ดิน เอ็น (N) = ต่ำ พี (P) = ปานกลาง และ เค (K) = สูง คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" คือ 4 กก.เอ็น/ไร่ และ 3 กก.พี/ไร่ โดยใส่ปุ๋ยครั้งแรก สูตร 16-20-0 15 กก./ไร่ และครั้งที่สอง สูตร 46-0-0 5 กก./ไร่ รวมทั้งหมด 20 กก./ไร่ ขณะที่คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คือ 18 กก.เอ็น/ไร่ และ 3 กก.พี/ไร่ ให้ใส่ปุ๋ยครั้งแรก 30 กก./ไร่ ได้แก่ สูตร 16-20-0 15 กก./ไร่ ผสมกับ 46-0-0 15 กก./ไร่ และครั้งที่สอง สูตร 46-0-0 20 กก./ไร่ รวมทั้งหมด 50 กก./ไร่ ซึ่งมากกว่าถึง 2.5 เท่า เมื่อใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ย่อมเกิดปัญหาต้นข้าวล้ม โรคใบไหม้ และการระบาดของเพลี้ยกระโดด ติดตามมา

ปี 2550 กรมส่งเสริมการเกษตรนำเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" ไปใช้ในโครงการบูรณาการเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง (8 จังหวัด) พบว่า ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และต้นทุนการผลิตลดลง 510 บาท/ไร่/ฤดูปลูก เป็นค่าปุ๋ยเคมี 241 บาท ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 178 บาท และค่าเมล็ดพันธุ์ 91 บาท

ปี 2552 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการส่งเสริมและขยายผลการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา (20 จังหวัด) พบว่า การถ่ายทอดความรู้การลดต้นทุนการปลูกข้าว 4 เรื่อง ได้แก่ การจัดการเมล็ดพันธุ์การปรับปรุงบำรุงดิน การบริหารศัตรูพืช และการใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ต้นทุนการผลิตข้าวในส่วนปัจจัยการผลิตลดลง 410 บาท/ไร่/ฤดูปลูก

ปี 2553 สมาชิก 13 ราย กลุ่มผู้ปลูกข้าวห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ใช้ปุ๋ยเคมี 80-100 กก./ไร่ ได้ทดลองใช้คำแนะนำ  "ปุ๋ยสั่งตัด" ในพื้นที่ปลูกข้าวรวม 571 ไร่ พบว่า ลดปริมาณปุ๋ยเคมีเหลือเพียง 30-40 กก./ไร่ ค่าปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 52 จาก 969 บาท/ไร่ เหลือ 463 บาท/ไร่ ค่าสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงลดลงมากกว่าครึ่ง ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จาก 750 กก./ไร่ เป็น 925 กก./ไร่

ปี 2553 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้นำเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" สำหรับข้าวโพด ไปขยายผลใน 4 ตำบลของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก พบว่า ค่าปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 21 จาก 1,170 บาท/ไร่ เหลือ 925 บาท/ไร่ ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จาก 1,345 กก./ไร่ เป็น 1,577 กก./ไร่

ระหว่างปี 2549-2551 กรมวิชาการเกษตรได้ทดลองนำเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" ไปใช้ในการปลูกอ้อยที่จังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิและกาฬสินธ์ รวม 26 แปลง พบว่า ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จาก 15.2 ตัน/ไร่ เป็น 17.1 ตัน/ไร่ ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อไร่ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นไร่ละ 2,023 บาท และต่อมาปี 2553-2554 นายบุญศรี ต้นกันยา หมู่ 1 ตำบลทมนางาม อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ใช้คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" ในการปลูกอ้อย 300 ไร่ พบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จาก 13 ตัน/ไร่ เป็น 16 ตัน/ไร่ ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อไร่เท่าเดิม ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นไร่ละ 3,100 บาท

ประเทศไทยใช้ปุ๋ยเคมีปีละ 5 ล้านตัน เกือบครึ่งหนึ่งใช้ในการปลูกข้าว ในเขตชลประทานภาคกลาง 15 ล้านไร่ เกษตรกรปลูกข้าวปีละ 2-3 ครั้ง จากการวิจัยพบว่า ชาวนาเหล่านั้นใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 66 กก./ไร่/ฤดูปลูก แต่เมื่อใช้คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" ปริมาณปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 47 ขณะที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ทำให้ลดปุ๋ยข้าวได้ถึงปีละ 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนผลผลิตเฉลี่ยข้าวโพดเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 และผลผลิตเฉลี่ยอ้อยเพิ่มขึ้นไร่ละ 2 ตัน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ครม. นัดพิเศษ ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร สำหรับข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชในโครงการประกันรายได้ เรียกโครงการนี้สั้นๆ ว่า "โครงการปุ๋ยลดต้นทุน"

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" สำหรับข้าวและข้าวโพด ของชุดดินหลัก (1-3 ชุดดิน) ในตำบลของตนเอง ซึ่งใช้ค่าวิเคราะห์ดินเฉลี่ยของแต่ละชุดดินในตำบลนั้น แต่สำหรับมันสำปะหลัง เนื่องจากยังไม่มีคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" จึงต้องใช้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของกรมวิชาการเกษตร

กรมพัฒนาที่ดิน โดยหมอดินอาสาจะเก็บตัวอย่างดิน ตำบลละ 30 ตัวอย่างรวม (Composite sample) 1 ตัวอย่างรวมได้จากการเก็บตัวอย่างดิน 15 จุดกระจายทั่วพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ จากนั้นวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน นอกจากนี้ ทุกตำบลจะได้รับแผนที่ชุดดินขนาดใหญ่ (1x1 เมตร) เพื่อให้เกษตรกรที่ก้าวหน้ามีโอกาสใช้คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" เป็นรายแปลง เพียงแต่ชาวไร่อ้อยจะไม่ได้รับเงินชดเชยค่าปุ๋ยจากรัฐบาลเท่านั้น

โครงการปุ๋ยลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี 6 สูตร ได้แก่ 46-0-0, 16-20-0, 16-16-8, 16-8-8, 18-12-6 และ 15-15-15 เป็นปุ๋ยสูตรที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด ทั้งในรูปปุ๋ยผสมปั้นเม็ดและปุ๋ยผสมคลุกเคล้า เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดของโครงการได้ที่เกษตรตำบล และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้ที่ ธ.ก.ส. เมื่อไปขึ้นทะเบียนประกันรายได้ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

                     (1) ต้นทุนการผลิตลดลง

                     (2) ผลผลิตเพิ่มขึ้น

                     (3) ราคาปุ๋ยเคมีถูกลง เพราะรัฐบาลอนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยค่าปุ๋ยกิโลกรัมละ 1.50 บาท

                     (4) ไม่ต้องใช้เงินสดซื้อปุ๋ย เพราะ ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมสินเชื่อค่าปุ๋ยในอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีไว้แล้ว

                     (5) ต้นทุนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลงด้วย

"โครงการปุ๋ยลดต้น" จึงสร้าง "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จของโครงการต้องอาศัยพลังความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ซึ่งมิใช่ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น

 

 

ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์

มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน

อีเมล์ prateep.v@pan-group.com

โทร.081-3065373

11 พฤษภาคม 2554