แต่งเติมธาตุอาหารพืชด้วย...'ปุ๋ยสั่งตัด' เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ธาตุ อาหารพืช นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช แต่ขณะเดียวกันธาตุอาหารในดินจะสูญเสียไปกับผลผลิตพืชที่เก็บเกี่ยวออกไปมากที่สุดด้วยโดยเฉพาะ พื้นที่การเกษตรที่ปลูกพืชติดต่อกันอย่างยาวนาน โดยไม่มีการเพิ่มเติมธาตุอาหารลงไปในดิน จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ในที่สุดเกษตรกรก็ได้ผลผลิตต่ำ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุอาหารพืชลงในดินให้เพียงพอ ซึ่งการใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของพืช และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้มีกำไรเพิ่มสูงขึ้น

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ธาตุอาหารพืชในดินจะสูญเสียไปจากพื้นที่การเกษตรได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการชะล้างและพังทลายของดิน การที่ธาตุอาหารถูกตรึงในดิน รวมทั้งการสูญเสียไปในรูปของก๊าซแต่การสูญเสียธาตุอาหารไปกับผลผลิตพืชมีปริมาณมากที่สุด ตัวอย่างเช่น การผลิตข้าวเปลือก 1 ตัน โดยเฉลี่ยจะมีฟางข้าว 1.3 ตัน รากของต้นข้าวต้องดูดใช้ธาตุ เอ็น-พี-เค จำนวน 20-5-25 กิโลกรัม เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต 1,000 กิโลกรัม จะมี เอ็น-พี-

เค ติดออกไปกับเมล็ด จำนวน 12-3-5 กิโลกรัม จึงยังเหลืออยู่ในฟางข้าว 8-2-20 กิโลกรัม ดังนั้น เกษตรกรควรไถกลบและหมักฟางข้าวลงไปในดิน เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ในฤดูเพาะปลูกถัดไปได้

ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีไม่ตรงกับความต้องการของต้นข้าว ทั้งชนิดปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน หากใช้เกินความต้องการของข้าว จะทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ ล้มง่าย ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดโรคไหม้ระบาดรุนแรงและมีแมลงศัตรูข้าวระบาดมากขึ้น จึงแนะนำให้ใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวให้กับชาวนาได้ ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็สามารถใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” ได้เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ปลูกมันสำปะหลังแนะนำให้ใช้ “ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” ส่วนเวลาและวิธีการใส่ปุ๋ยจะแตกต่างกันออกไปตามชนิดพืชซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ จะทราบดีอยู่แล้ว แต่มีข้อควรระวัง คือ การใส่ปุ๋ยให้แก่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังจะต้องกลบปุ๋ยทุกครั้ง

จุดเด่นของเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเองโดยใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งทำให้รู้จักดินในนาของตนเอง ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องตามคำแนะนำ ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและ ลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกร ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้บนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น และใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังใน “โครงการส่งเสริมการ ใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร” สามารถนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เข้าไปช่วยในการแต่งเติมธาตุอาหารพืชในดินในแปลงของตนเองได้...ต้นทุนลดกำไรเพิ่ม...ถ้าไม่ลอง...ก็ไม่รู้...ขอบอก

นสพ.เดลินิวส์ 

ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2554