ปุ๋ยสั่งตัด ตัวอย่างงานวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้ง

การทำงานวิจัย ควรมีหลักการดังนี้

โจทย์วิจัย ต้องมีผู้ใช้ ทันสมัย ต่อยอดและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันได้ นำไปประยุกต์ใช้ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันได้ นักวิจัยไม่ทำวิจัยด้วยความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าผู้ใช้ผลงานคือใคร อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร มีข้อจำกัดอะไรบ้างในการรับเทคโนโลยี และควรยึดประโยชน์ของเกษตรกรเป็นเป้าหมาย วิธีการวิจัย ประกอบด้วยการวิจัยพื้นฐาน ประยุกต์ ถ่ายทอด บูรณาการ เกษตรกรผู้นำร่วมเป็นนักวิจัยและถ่ายทอดโดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยง นักวิจัย ต้องมุ่งมั่น เสียสละ อดทน อุทิศเวลาอย่างเต็มที่ ทำงานเป็นทีม เรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ใช้ผลงานวิจัย ผลที่คาดว่าจะได้รับ ต้องเป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อสังคมไทย ลดต้นทุนการผลิต ไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นผลงานวิจัยที่ได้ใช้หลักการดังกล่าวข้างต้นมาดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย 3 นวัตกรรม คือ

(1) คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่พัฒนาจากแบบจำลองการปลูกพืชและระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นการใช้ระบบสารสนเทศมาพัฒนาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับพืชเศรษฐกิจของประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งแบบจำลองการปลูกพืชนี้ประกอบด้วยฐานข้อมูลดิน พืช และภูมิอากาศ และคำนวณผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ดังนั้น เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” จึงเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่แม่นยำ เพราะได้นำปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชเข้ามาร่วมคำนวณด้วย และที่สำคัญที่สุด เกษตรกรผู้นำได้ทำหน้าที่ทดสอบคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ในภาคสนาม พร้อมๆ กับขยายผลในชุมชนของตนเอง คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่ได้พัฒนานั้น นักวิจัยสามารถปรับให้เป็นปัจจุบันได้ โดยการปรับปรุงฐานข้อมูลในแบบจำลองการปลูกพืชได้ตลอดเวลา จึงเป็นตัวอย่างงานวิจัยที่ท้าทายนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงกว่างานวิจัยที่ได้ทำไว้แล้ว

(2) ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดิน ทีมงานได้ประดิษฐ์และนำชุดตรวจสอบฯ ออกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2541 นับเป็นครั้งแรกของประเทศ ทำให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาที่ภาครัฐไม่สามารถให้บริการเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดและทั่วถึง ชุดตรวจสอบฯ นี้มีราคาถูก มีความแม่นยำ สะดวกและรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็รู้ผลการวิเคราะห์ดินและแนะนำการใช้ปุ๋ยได้

(3) กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมที่เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการพึ่งตัวเอง เริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกร และฝึกให้เกษตรกรผู้นำเป็นนักวิจัย โดยใช้ไร่นาของตนเองเป็น “ห้องทดลอง” ฝึกให้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำแผนลดต้นทุนการผลิตบนฐานภูมิปัญญา จากนั้นจึงต่อยอดด้วยเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ทำให้เกษตรกรตื่นตัวและหันกลับมาพึ่งตัวเอง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีฐานะดีขึ้น เกิดการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือกันและกัน ฯลฯ

เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่พลิกโฉมการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศอย่างก้าวกระโดด คือ เปลี่ยนจากการที่เกษตรกรซื้อปุ๋ยผิดชนิด ใส่ผิดปริมาณ เป็นเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจกำลังการผลิตพืชของดิน ความแตกต่างของปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ การเก็บตัวอย่างดิน การวิเคราะห์ดิน และการแนะนำการใช้ปุ๋ย รวมทั้งเป็นอาสาสมัครในหมู่บ้าน

ในปี 2558 การแข่งขันทางการค้าในภูมิภาคอาเซียนจะรุนแรงขึ้น ข้าวไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีต้นทุนการผลิตสูง 

ดังนั้น เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตพืชของประเทศ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาด้านสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เมื่อเกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น ย่อมช่วยลดปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งท้ายที่สุดย่อมสร้างความมั่นคงยั่งยืนของประเทศ

สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ssnmthai.com

วารสารปฐพี-เคมีการเกษตรสัมพันธ์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556