คลินิกดินปุ๋ยสั่งตัด แหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ย โดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกร

เมื่อได้ยินคำว่า “ปฏิรูป” ทำให้นึกถึงตกยุค ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ขณะนี้พรรคการเมืองใหญ่และการศึกษาไทยก็กำลังถูกปฏิรูป แสดงว่า ทั้งนักการเมืองและคนกระทรวงศึกษาฯ นั้นตกยุค ฉะนั้น ถ้าต้องการให้การเกษตรไทยมีอนาคตที่สดใส คนกระทรวงเกษตรฯ และเกษตรกรต้องเร่งปฏิรูปตนเองให้เป็น “มืออาชีพ” เนื่องจากความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่คน

เกษตรกรมืออาชีพต้อง “รู้จักคิด” เริ่มจากหันกลับมาคิดพึ่งตนเอง เพื่อฟื้นฟูความภาคภูมิใจ และความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องเห็นคุณค่าของผู้อื่นด้วย เพราะคนในชุมชนและสังคมต่างพึ่งพาอาศัยกัน

คิดแบบองค์รวม การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย อาทิ พันธุ์พืช วัชพืช โรค แมลง น้ำ ดินและปุ๋ย แต่ที่สำคัญมาก คือการจัดการของเกษตรกร หรือคุณภาพของเกษตรกรนั่นเอง

คิดเป็นระบบ วางแผนการผลิตที่มีเป้าหมายชัดเจน ท้าทาย รู้ว่า ต้องการอะไร เท่าไร เมื่อไร เช่น มีเป้าหมายลดต้นทุนการปลูกข้าว 500 บาทต่อไร่ในฤดูหน้า

คิดสร้างสรรค์ ค้นคว้า หาวิธีการใหม่ๆ มาทดลองใช้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ไร่นาเป็นห้องเรียน ใช้พืชที่ปลูกเป็นครู และคิดแบ่งปัน ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และใช้ไร่นาที่ประสบความสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

เกษตรกรมืออาชีพต้อง “รู้จักพืช” ผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยของประเทศในปัจจุบันไม่ถึง 4 ตันต่อไร่ หรือต่ำกว่า 3 กก.ต่อต้น แต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ชาวไร่ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ชนะเลิศการประกวดได้ผลผลิต 120 กก.ต่อต้น หรือมากกว่า 40 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ แสดงว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่ใช้อยู่มีศักยภาพให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก อีกตัวอย่างหนึ่ง ปัญหาต้นข้าวล้มก่อนการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะเขตชลประทานภาคกลาง เนื่องจากชาวนาไม่รู้ปริมาณความต้องการธาตุอาหารของข้าว จึงใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป 2-3 เท่าตัว

เกษตรกรมืออาชีพต้อง “รู้จักดิน” ในบรรดาปัจจัยการผลิต เกษตรกรขาดความรู้เรื่องดินและปุ๋ยมากที่สุด ส่งผลให้ยิ่งพัฒนา ยิ่งมีหนี้สิน ที่ดินยิ่งหลุดมือ เกษตรกรเปลี่ยนเป็นกรรมกรมากขึ้นๆ ในที่นี้เรียกผู้เช่าที่ดินเพาะปลูกพืชว่า “กรรมกร” ซึ่งจะไม่ใส่ใจปรับปรุงบำรุงดิน เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน เมื่อดินเสื่อมโทรม ผลผลิตจะลดลง ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น

ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีมากกว่า 200 ชุดดิน มีศักยภาพและข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ความลึกของดิน ความเป็นกรด-ด่าง เนื้อดิน ความโปร่งร่วนซุย จึงต้องรู้ว่า ที่ดินเหมาะสำหรับปลูกพืชชนิดใด มีเกษตรกรจำนวนมาก ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตดีเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรกเท่านั้น

พืชต้องการธาตุอาหาร 17 ธาตุ สำหรับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต 3 ธาตุได้จากน้ำและอากาศ ส่วนอีก 14 ธาตุได้จากดิน จึงต้องรู้ว่า ดินมีธาตุอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไร “ดินปวดหัว หรือปวดท้อง” จึงจะให้ยา หรือใส่ปุ๋ยได้ถูกต้อง

เกษตรกรมืออาชีพต้อง “รู้จักปุ๋ย” ปุ๋ย คือ วัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืช หรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช ปุ๋ยจึงไม่ใช่สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยที่จำหน่ายในประเทศไทยมีเพียง 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยแต่ละประเภทมีวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกัน เช่น การใส่ปุ๋ยเคมีมุ่งให้เฉพาะธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) เท่านั้น

ปุ๋ยเคมีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก “แม่ปุ๋ย” ได้แก่ แม่ปุ๋ยเอ็น เช่น 46-0-0 แม่ปุ๋ยพี เช่น 18-46-0 และแม่ปุ๋ยเค เช่น 0-0-60 ส่วนกลุ่มที่ 2 “ปุ๋ยผสม” ได้จากการนำแม่ปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดมาผสมกันให้ได้ปริมาณและสัดส่วนของ เอ็น–พี–เค ตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปปุ๋ยผสมปั้นเม็ด และปุ๋ยผสมคลุกเคล้า ในปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ประมาณ 800 สูตร

เกษตรกรมืออาชีพต้อง “รู้จักการใช้ปุ๋ย” พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน ถ้าใส่ปุ๋ยมากเกินไป นอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้พืชอ่อนแอ โรคและแมลงระบาดรุนแรงขึ้น แต่ถ้าใส่ปุ๋ยน้อยเกินไป จะได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เพราะธาตุอาหารตัวที่ขาดแคลนมากที่สุด จะเป็นตัวจำกัดการตอบสนองของพืชต่อการเพิ่มธาตุอาหารตัวอื่นๆ

คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบัน ยังคงเป็นแบบกว้างๆ มิได้คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารพืชในดินขณะนั้น จึงเรียกว่า “ปุ๋ยเสื้อโหล” (เสื้อมีขนาดเดียว) ทำให้การใช้ปุ๋ยไม่ตรงกับความต้องการของพืช มีเกษตรกรจำนวนน้อยมากใช้ “ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” (เสื้อมีขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่) โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำปุ๋ย แต่มิได้นำความแตกต่างของชนิดดินมาร่วมพิจารณาด้วย การใช้ปุ๋ยจึงยังคงไม่เหมาะกับดินแต่ละชนิด

“ปุ๋ยสั่งตัด” (เสื้อมีขนาดพอดีตัว) เป็นคำแนะนำปุ๋ยเคมีที่นำข้อมูลชุดดิน และค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน มาร่วมกำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยด้วย จึงมีความแม่นยำ ทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 

ดังนั้น เกษตรกรควรวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย เพื่อให้รู้ว่า ธาตุอาหารในดินมีอยู่เท่าไร ต้องใส่ปุ๋ยชนิดใด (ใส่ปุ๋ยให้ “ถูกชนิด”) และในปริมาณเท่าไร (ใส่ปุ๋ยให้ “ถูกปริมาณ”) โดยใช้คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือคำแนะนำ “ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” ดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ www.ssnm.info และ www.banrainarao.com ตามลำดับ อีกทั้งยังต้องใส่ปุ๋ยให้ “ถูกเวลา” ในขณะที่พืชต้องการ ดินมีความชื้น และใส่ปุ๋ยให้ “ถูกวิธี” ใส่ปุ๋ยในบริเวณที่พืชดูดกินได้มากที่สุด แล้วกลบปุ๋ยด้วย

เกษตรกรมืออาชีพต้อง “รู้จักการผสมปุ๋ยใช้เอง” ในปี 2553 กรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจปุ๋ย 555 ตัวอย่าง จากสหกรณ์ 222 แห่ง พบว่า ปุ๋ยเคมีร้อยละ 57 และปุ๋ยอินทรีย์ร้อยละ 92 ไม่ผ่านมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้

การซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมใช้เอง นอกจากช่วยแก้ปัญหาปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐานแล้ว ยังได้ปุ๋ยสูตรที่ตรงกับความต้องการของพืช และได้ปุ๋ยราคาถูกกว่ากระสอบละประมาณ 120 บาท เมื่อเทียบกับปุ๋ยสูตรที่จำหน่ายในท้องตลาด ตัวอย่างเช่น ถ้าผสมปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 16-20-0 จะได้ปุ๋ยราคาถูกกว่ากระสอบละ 150 และ 100 บาท ตามลำดับ

คลีนิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้บริการตรวจดินฟรี โดยใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ให้คำแนะนำปุ๋ย และจำหน่ายปุ๋ยดี ราคาถูก หากมีส่วนต่างของราคาปุ๋ยกระสอบละ 120 บาท แนะนำให้ลดราคาให้เกษตรกร 30 บาท ใช้เป็นค่าบริหารจัดการและค่าวิเคราะห์ดิน 20 บาท นำเข้ากองทุนคลีนิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” 35 บาท และใช้จัดสวัสดิการชุมชน 35 บาท

คลีนิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ยของชุมชน ดำเนินการโดยเกษตรกรผู้นำ เพื่อเกษตรกรและชุมชน กำหนดเปิดให้บริการ 3 แห่งในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดขอนแก่น (บ้านหินลาด โทร. 08-6861-2701) สระบุรี (ห้วยขมิ้น โทร. 08-1948-0952) และสุพรรณบุรี (สำนักตะค่า โทร. 08-6169-6225) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนคิวม่า มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย แห่งละ 200,000 บาท มีกำหนดเวลาชำระคืนภายใน 1 ปี

ท่านองคมนตรี นพ.เกษม วัฒนชัย ยังได้กรุณาให้ข้อคิดว่า หากชุมชนที่เข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกัน นำเงิน “กองทุนเอสเอ็มแอล” มาจัดตั้งคลีนิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จะช่วยเสริมพลังให้แก่ชุมชนเกษตรกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมไทยได้เป็นอย่างดี

ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์

มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน

prateep.v@hotmail.com

08-1306-5373

28 เมษายน 2556