คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด”: แก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยแบบเบ็ดเสร็จโดยเกษตรกร

ประเทศไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปี 62 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย433 กก./ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง  16 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 669 กก./ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556) จะเห็นว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ยังต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

ชาวนาไทยส่วนใหญ่มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เนื่องปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยเคมี ขาดความรู้เรื่องดินและปุ๋ย อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐาน และปุ๋ยแพงอีกด้วย ส่งผลให้ยิ่งพัฒนา ยิ่งมีหนี้สิน ที่ดินหลุดมือ ต้องเช่าที่ดินทำกิน จึงไม่ใส่ใจปรับปรุงบำรุงดิน เมื่อดินเสื่อม ผลผลิตพืชย่อมลดลง

ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีมากกว่า 200 ชุดดิน มีศักยภาพและข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ความลึก ความเป็นกรด-ด่าง เนื้อดิน ฯลฯ จึงต้องรู้ว่า ที่ดินผืนนั้นเหมาะกับพืชชนิดใด?

พืชต้องการธาตุอาหาร 18 ธาตุ จึงต้องรู้ว่า ดินขณะนั้นมีธาตุอาหารอะไร? ปริมาณเท่าไรก่อนใส่ปุ๋ย? ซึ่งทำได้โดยการวิเคราะห์ดินทางเคมีเท่านั้น

เกษตรกรยังต้อง “รู้จักปุ๋ย” ปุ๋ย คือ วัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืช หรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช ปุ๋ยจึงไม่ใช่สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยที่จำหน่ายในประเทศไทยมีเพียง 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยแต่ละประเภทมีจุดประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยเคมีเน้นเฉพาะธาตุอาหารหลัก (N-P-K) เท่านั้น

เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำด้วยตนเอง ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน (1) ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน ดูจากแผนที่ชุดดิน หรือตรวจสอบที่เว็บไซด์ www.soil.doae.go.th (2) วิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน โดยชุดตรวจสอบ เอ็น- พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว และ (3) ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ดาวน์โหลดฟรีที่เว็บไซต์ www.ssnmthai.com

ปี 2556 กองทุนคิวม่า (Kyuma Fund) มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทำโครงการนำร่องหนุนเสริม

เกษตรกรสุพรรณบุรี สระบุรีและขอนแก่น ให้จัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปีแห่งละ 2 แสนบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อแม่ปุ๋ยมาจำหน่าย

คลินิกดินฯ ให้บริการ (1) ตรวจดินฟรี (2) ให้คำแนะนำปุ๋ย และ (3) ขายแม่ปุ๋ย เป็นการแก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยให้แก่เกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียวโดยเกษตรกร (One Stop Service for Fertilizer Problem Solving by Farmers)

ปัจจุบัน คลินิกดินฯ ทั้ง 3 แห่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงมีเกษตรกรพิษณุโลก กาญจนบุรี และพิจิตร ใช้เงินกองทุน SML ของหมู่บ้าน ระดมทุนกันเอง ฯลฯ จัดตั้งคลินิกดินฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง และยังมีเกษตรกรอีกหลายจังหวัดกำลังดำเนินการ เช่น สตูล สงขลา สิงห์บุรี กาฬสินธุ์ ฯลฯ

น่าสนใจที่ปีนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ขับเคลื่อนโครงการ “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับข้าว 1 อำเภอ 1 ตำบล มีชาวนาผู้นำในแต่ละตำบลเข้าร่วม 25 คน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)หนุนเสริมงบประมาณ และเกษตรจังหวัดประสานงาน พบว่า ในเวทีสร้างทีมตำบลเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2557 นี้ มี 3 ตำบลต้องการจัดตั้งคลินิกดินฯ

ฉะนั้น ในช่วงสุญญากาศนี้ ถ้า อปท. หนุนเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” สิ่งดีๆ ย่อมเกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติโดยรวมอย่างแน่นอน

      ที่มา : วารสารปฐพึ & เคมีการเกษตรสัมพันธ์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2557 ฉบับวันคืนสู่เหย้า