ปุ๋ยสั่งตัดตอบโจทย์ลดต้นทุนแน่นอน

เมื่อปี 2550 ทางกรมส่งเสริมการเกษตร นำเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวเขตชลประทาน ภาคกลาง 8 จังหวัด ผลปรากฏว่า ชาวนาลดค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ย ร้อยละ 47 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งสามารถลดลงได้เกินครึ่ง ที่สำคัญได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7 และต้นทุนการผลิต เฉลี่ยลดลง 510 บาทต่อไร่ จากจุดนี้เองก็ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรมากขึ้นและเริ่มยอมรับเทคโนโลยีกันมากขึ้น 

              ในปีถัดมีการนำไปใช้ที่ศูนย์ข้าวชุมชนห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี โดยมี แกนนำเกษตรกร” ร่ม วรรณประเสริฐ”  นำเทคโนโลยีนี้เผยแพร่ให้แก่สมาชิกที่ที่ปลูกข้าวโดยรวมเกือบ 2,000 ไร่ ซึ่งปกตืจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าปุ๋ยข้าวนาปีรวมแล้ว 1.7 ล้านบาท

หลังจากที่ใช้ปุ๋ยตามวิธีใหม่ จนถึงปี 2558 ปรากฏว่าค่าปุ๋ยข้าวนาปีลดลงเหลือเพียง 520,000 บาทเท่านั้น  หรือลดลงเกือบ 70 % ในขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 รวมทั้งปัญหาข้าวเมล็ดลีบก็หมดไป

ที่สำคัญคือประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงลงได้ไร่ละ 300 บาท เพราะอย่างที่ทราบกันแล้วว่า ต้นข้าวที่แข็งแรงเพราะว่ามีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง จะมีความต้านทานต่อโรคและแมลงมากกว่าข้าวที่ต้นอวบฉ่ำน้ำเพราะว่าให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป

          เมื่อแน่ใจแล้วว่าเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้จริง รวมทั้งทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ก็มีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านลำ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ได้ใช้ทดลองทำในพื้นที่ 256 ไร่ ผลปรากฏว่า ค่าปุ๋ยเคมีลดลงได้ครึ่งหนึ่ง แต่ผลผลิตข้าวกลับเพิ่มขึ้น 17 % ส่วนที่บางระกำ พิษณุโลก ปลูกข้าวนาปรังใช้ต้นทุนค่าปุ๋ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 31 %

           จะเห็นได้จากการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ผลที่ได้มักจะคล้ายกันคือต้นทุนค่าปุ๋ยลดลง มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นที่และรูปแบบการใช้ปุ๋ยเดิม รวมทั้งปริมาณธาตุอาหารดินเดิมที่มีอยู่ในดิน และที่สำคัญคือ ถึงแม้ค่าปุ๋ยจะลดลง แต่ปรากฏว่าผลผลิตข้าวกลับเพิ่มขึ้น แสดงว่าการใช้ปุ๋ยแบบเดิมๆ ที่ทำกันอยู่โดยการเดาสุ่มหรือใช้ตามคำแนะนำอย่างกว้างๆ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

          ดังนั้นช่องทางหนึ่งที่หลายฝ่ายพยายามทำกันอยู่ในการหาทางลดต้นทุนการผลิตนั้น ก็คือการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ผลจริง    หลังจากที่มั่นใจในผลการทดลองที่ทำต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เกิดการจัดตั้ง “คลินิกดิน” ขึ้นมา 52 แห่งใน 15 จังหวัด โดยความร่วมมือของหลายๆ หน่วยงานร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สโมสรโรตารี สโมสรไลออนส์ เป็นต้น

       โดยที่คลินิกดินที่ตั้งขึ้นมานี้จะให้บริการตรวจดินและแนะนำการใช้ป๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ และคลินิกดินบางแห่งยังจำหน่ายแม่ปุ๋ยซึ่งเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในการผสมปุ๋ยใช้เองให้ได้สูตรตามที่ต้องการและตรงตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ รวมทั้งเกิดเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนขยายผลเทคโนโลยีต่อไป 

      ตอนนี้มีนักวิจัยจากเนคเทคได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “ปุ๋ยสั่งตัดข้าว” สำหรับใช้บนสมาร์ทโฟน เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้งานของเกษตรกร

       ดังนั้นรูปแบบการใช้ปุ๋ยของประเทศไทยในอนาคตคงจะพลิกโฉมไปจากเดิมและทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน