ความสำเร็จของการใช้ปุ๋ยสั่งตัด

ตัวอย่างแรกของความสำเร็จของโครงการ “ การจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ในการเพิ่มมาตรฐานชีวิตของเกษตรกรคือ ตัวอย่างของ นายสัมพันธ์ เย็นวารี เกษตรกรผู้นำจากจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2544 กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนให้นักวิจัยของโครงการวิจัยฯ อบรมเกษตรกร 200 คน และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร 200 คน จาก 10 จังหวัดที่ปลูกข้าวโพด นายสัมพันธ์ เย็นวารี (ภาพที่ 1) 

เป็นเกษตรกรคนหนึ่งในจำนวน 200 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่สำหรับข้าวโพด ในปี 2545-2547 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้สนับสนุนให้มีการขยายผลของโครงการนี้โดยให้อบรมเกษตรกรผู้นำ 100 คน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร 20 คน ใน 4 จังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญของประเทศไทย ในช่วงนี้เราได้ใช้ หลักกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเทคนิคในการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร และคัดเลือกเกษตรกรผู้นำ 67 คน นายสัมพันธ์ เย็นวารี เป็นคนหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกจากเกษตรกรผู้นำ จำนวน 67 คน เราได้สังเกตว่า นายสัมพันธ์ มีความเฉลียวฉลาด และว่องไวในการเรียนรู้ และอภิปรายปัญหาต่างๆ ระหว่างการฝึกอบรม นายสัมพันธ์ เย็นวารี มีความรู้ในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์มาก่อน นายสัมพันธ์ได้กลับไปวิจัยในไร่นาของเขาเอง ในเรื่องต่างๆ ที่เรียนรู้จากการฝึกอบรม เช่น ศึกษาระยะการปลูกข้าวโพด การปรับปรุงดินโดยใช้พืชตระกูลถั่ว การผสมพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เป็นต้น 

เราได้ประชุมกับเกษตรกรผู้นำเหล่านี้จำนวน 5-6 ครั้ง ในช่วงปี 2545-2547 นายสัมพันธ์ ไม่เคยขาดการประชุมแม้แต่ครั้งเดียว เพราะนายสัมพันธ์พูดว่าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากการประชุม นายสัมพันธ์ ขี่มอเตอร์ไซต์ จากบ้านที่วังน้ำเขียวมาประชุมที่ศูนย์วิจัยข้าวโพด ข้าวฟ่างแห่งชาติ ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมากในครั้งแรกๆ ของการประชุม จากการวิจัยด้วยตัวของเขาเอง การผลิตข้าวโพดของนายสัมพันธ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง กำไรมากขึ้น (ภาพที่ 2) เนื่องจากมีการใช้พืชตระกูลถั่วบำรุงดิน และมีการจัดการต่างๆ ที่ดีขึ้น 

นอกจากนั้นสิ่งที่นายสัมพันธ์ และเกษตรกรคนอื่นๆ ได้รับความรู้เพิ่มเติม คือเรื่องการพึ่งตนเอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น การให้อำนาจเกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกการผลิตพืช การสร้างเครือข่าย ทำให้ครอบครัวของนายสัมพันธ์ และเกษตรกรคนอื่นๆ มีฐานะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนี้สินลดลง ในปี 2547 เราสังเกตเห็นว่านายสัมพันธ์เดินทางมาประชุมโดยใช้รถปิคอัพ ปีถัดมานายสัมพันธ์ใช้รถเก๋งโตโยต้า เป็นพาหนะในการเดินทางมาประชุม และมีที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 100 ไร่ ปี 2549 ซื้อรถไถ 1 คัน และรถ ปิคอัพอีก 1 คัน นอกจากนี้นายสัมพันธ์ยังได้ดำเนินการผลิตผักปลอดสารพิษส่งต่างประเทศ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้เชิญให้นายสัมพันธ์เป็นวิทยากรสอนเกษตรกรคนอื่นๆให้วิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย และผสมปุ๋ยใช้เองในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนายสัมพันธ์เป็นนายกชมรมชาวไร่ข้าวโพดแห่งประเทศไทย มีสมาชิกประมาณ 15,000 คน จากหลายๆ จังหวัด

ตัวอย่างที่ 2 คือ นายกฤชพัฒน์ ศรีทรงเมือง (ภาพที่ 3)

เกษตรกรผู้นำจากจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤชพัฒน์เป็นเกษตรกรคนหนึ่งในจำนวน 200 คนที่ได้รับการฝึกอบรม ในปี 2544 นายกฤชพัฒน์ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 300 ไร่ จากการเข้าร่วมโครงการกับเรา นายกฤชพัฒน์ สามารถผลิตข้าวโพดได้ 1.2 ตัน/ไร่ จากที่เคยผลิตเดิม 600 กก./ไร่ จากการทำงานโดยใช้หลักการการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ นาย กฤชพัฒน์ ซื้อที่ดิน 34 ไร่ เพิ่มเติม ซื้อรถไถเล็ก 2 คัน รถไถใหญ่ 1 คัน และรถปิคอัพ 1 คัน และขณะนี้ได้ลงทุนปรับปรุงพื้นที่ 80 ไร่ ไปประมาณ 300,000 บาท เพื่อปลูกพืชอื่นๆ นอกจากข้าวโพด ปัจจุบันนาย กฤชพัฒน์ได้กำไร 1,000 บาท/ไร่ ในการผลิตข้าวโพด ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะน้ำมันแพง นาย กฤชพัฒน์ได้พัฒนาเครื่องหว่านปุ๋ยที่ปรับปริมาณได้

ตัวอย่างที่ 3 คือ นายประคอง ปิ่นวิเศษ (ภาพที่ 4) 

เกษตรกรผู้นำจากจังหวัดลพบุรี ก่อนปี 2544 นายประคองมีหนี้สิน สิ้นหวังและไม่อยากมีชีวิตอยู่ หลังจากที่นายประคองได้เข้าร่วมโครงการฯ ในช่วง 2545-2547 นายประคองหมดหนี้สิ้น และมีเงินออมในธนาคาร นายประคองได้แบ่งพื้นที่เพื่อปลูกพืชอื่น นอกจากข้าวโพด และมีการปลูกข้าวโพดเป็นช่วงๆ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง นายประคอง ปลูกถั่วเขียวสลับข้าวโพดทุกปี ทำให้ดินของนายประคองร่วนซุย ไถพรวนง่าย ผู้รับจ้างไถชอบมาก เพราะทำงานสะดวก รวดเร็ว ถึงแม้ว่าปัจจุบันน้ำมันแพง ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดหลายรายเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น แต่นายประคองสามารถมีรายได้พอเพียงจากการปลูกข้าวโพด และพืชอื่นๆ โดยใช้ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาประยุกต์ในไร่นาของตนเอง

ตัวอย่างที่ 4 คือ นายประจักร ศรีประเสริฐ (ภาพที่ 5) 

เกษตรกรปลูกอ้อยจากจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1 ปี เขามีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 60 ไร่ แต่ขณะนี้ได้รับจำนองมาอีก 55 ไร่ รวมเป็น 115 ไร่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงชีวิต และฐานะของนายประจักร อย่างรวดเร็ว ในอดีตนายประจักรทำงานหนักมาก และมีหนี้สิ้น หลังจากที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้หลักคิดต่างๆ มีการปรับความคิดมากมาย ขณะนี้นายประจักรได้ปลูกพืชหลายชนิดในไร่นอกจากอ้อย มีเวลามากขึ้น เนื่องจากจัดการเป็น นายประจักรได้ขายอ้อยที่ปลูกได้เพียง 3 เดือน เป็นบางส่วนไปก่อน ดังนั้นจึงมีเวลามากขึ้น ได้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว และขายประกัน มีรายได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุกปี นายประจักรใช้แรงงานน้อยลง และมีรายได้มากขึ้น มีความสุขมากขึ้น

ตัวอย่างที่ 5 คือ นายสละ นิรากรณ์ (ภาพที่ 6) 

เกษตรกรปลูกข้าวโพดจากจังหวัดสระบุรี ก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นหมอดินอาสา เป็นผู้นำกลุ่มเกษตรกร หลังจากได้ร่วมทำแปลงสาธิตเพียง 1 ปี ได้ทำการผสมแม่ปุ๋ย 46-0-0 และ 0-0-60 เพื่อให้ได้ตำรับปุ๋ย 13-0-8 นายสละจึงเริ่มเข้าใจสูตรปุ๋ยที่มีค่า N-P-K ต่าง ๆ กัน และเข้าใจถึงหน้าที่หลักของแม่ปุ๋ยแต่ละตัวที่ใช้ผสมว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดแตกต่างกันอย่างไร รู้และเข้าใจถึงความแตกต่างของปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ และจะเลิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์บรรจุถุง รู้และเข้าใจในการปลูกข้าวโพดตามหลักวิชาการ นายสละให้ความเห็นว่าการผสมปุ๋ยไม่ยุ่งยากเลย เมื่อใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ผลผลิตข้าวโพดสูงขึ้นจากเดิม 900 กก./ไร่เป็น 1.5 ตัน/ไร่ เป็นแกนนำในการเผยแพร่วิธีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกรตำบลพุคำจานทั้งตำบล และได้เริ่มถ่ายทอดไปแล้ว 4 หมู่บ้าน เป็นแกนนำในการรวมกลุ่มเพื่อจัดหาแม่ปุ๋ยมาผสมปุ๋ยใช้เอง

ตัวอย่างที่ 6 คือ นายสุภาพ โนรีวงศ์ (ภาพที่ 7) 

อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/14 หมู่ที่ 4 ตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 086-147-1898 ทำนามาตั้งแต่จบป.4 ยุคแรกๆใช้แรงงานสัตว์ได้ข้าวเปลือก 45-50 ถัง / ไร่ ต่อมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงานสัตว์ ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมากขึ้น ได้ข้าวเปลือก 60-70 ถัง / ไร่ สมัยที่สามใช้เครื่องจักรกลเต็มกำลัง ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ไร่ละ 50-60 กก.ใช้สารเคมีมาก ได้ข้าวเปลือก 80-90 ถัง/ไร่ เมื่อหักรายจ่ายแล้วเหลือเงินเพียงเล็กน้อยไม่พอใช้จ่ายในครัวเรือน เพราะฉะนั้นจะซื้ออะไรได้แต่ฝันเท่านั้น จนมาเจอะโอกาสทองพบท่าน ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ดร.บุรี บุญสมภพพันธ์ เมื่อปี 2548 ที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี ที่นี่แหละเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในการทำนา ทำให้ความฝันเป็นจริงได้ คือ ต้นทุนการปลูกข้าวก่อนเจอะโอกาส 4.50 บาท / กก. ขาย 5-6 บาท/กก. ต้นทุนการปลูกข้าวหลังเรียนรู้ 3.25 บาท / กก. ขาย 11 บาท/กก. ต่อจากนี้ไปต้องลดต้นทุนให้เหลือ 2.50 บาท / กก. นี่คือเกษตรกรผู้นำอีกคนหนึ่งที่อยากให้ทุกคนรู้จัก และอยากให้เกษตรกรคนอื่นๆได้พัฒนาการปลูกข้าวให้มีต้นทุนการผลิตลดลงและมีรายเหลือมากขึ้น