เกษตรยั่งยืนกับแหล่งที่มาของธาตุอาหารในดิน

ปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชมี 2 ปัจจัยหลักๆ คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม 

พันธุกรรมเป็นลักษณะที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่พันธุ์ 

ส่วนสิ่งแวดล้อมนั้นประกอบด้วยสิ่งที่อยู่รอบตัวพืช ซึ่งเป็นทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต 

สิ่งมีชีวิต ได้แก่ จุลินทรีย์ พืช สัตว์ และมนุษย์ ส่วนสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ เช่น แดด ฝน และอุณหภูมิ คุณสมบัติของดิน และอื่นๆ เป็นต้น 

ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งแวดล้อมพืช ล้วนมีอิทธิพลที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งระบบโดยอาจมีผลในด้านบวกหรือด้านลบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชได้ 

ชนิดและปริมาณของธาตุอาหารในดินก็นับเป็นสิ่งแวดล้อมพืชที่สำคัญ แหล่งที่มาของธาตุอาหารในดินที่ใช้ทำการเกษตรมาจาก 2 แหล่ง คือ จากภายในดินเอง และนำเข้ามาจากภายนอก 

ธาตุอาหารพืชที่เกิดขึ้นจากภายในดินเองนั้น เกิดจากการผุพังสลายตัวของแร่ธาตุและอินทรียวัตถุดั้งเดิมในดิน และจากบรรยากาศ เช่นการตรึงไนโตรเจนจากอากาศของพืชตระกูลถั่วและธาตุอาหารพืชที่ละลายมากับน้ำฝน เป็นต้น 

สำหรับธาตุอาหารพืชที่นำเข้าสู่ดินจากภายนอก ยังแบ่งย่อยออกได้ 2 ประเภท คือ ที่ได้มาในรูปอินทรีย์สาร ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ฟางข้าว เป็นต้น 

ส่วนในรูปอนินทรีย์สาร ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ซึ่งผลิตจากธาตุไนโตรเจนจากอากาศ แร่ฟอสเฟต และแร่โพแทส 

เกษตรธรรมชาติ เป็นวิธีการเกษตรที่เน้นเรื่องไม่มีการนำธาตุอาหารพืชจากภายนอกเข้าสู่ระบบ และไม่ใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด จะเป็นระบบที่ยั่งยืนได้ก็ในสภาพของการปลูกป่าถาวรหรือการครองชีพที่ประหยัดแบบพอมีพอกินที่ไม่โลภและไม่เห็นแก่ตัว อันเป็นสภาพชีวิตในอุดมการณ์ของประชาชนที่สละแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง 

เกษตรอินทรีย์เป็นวิธีการเกษตรที่มีการนำธาตุอาหารพืชจากภายนอกเข้าสู่ระบบ แต่ธาตุอาหารพืชที่นำเข้ามานั้น อยู่ในรูปอินทรียสารเท่านั้น เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ฟางข้าว ฯลฯ และไม่ใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารเคมีในทุกกรณี รวมทั้งปุ๋ยเคมีเช่นกัน จะเป็นระบบที่ยั่งยืนได้ก็ในระดับของแต่ละไร่นา หรือตัวเกษตรกรคนใดคนหนึ่ง โดยเน้นการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตนเอง และเพื่อการพอมีพอกินของตนเองเป็นหลัก 

ดังนั้นแนวทางของเกษตรยั่งยืนซึ่งมองต่างมุมกันในลักษณะพูดกันคนละเรื่องเดียวกันนั้นเมื่อพิจารณาถึงวิธีการจัดการแหล่งของธาตุอาหารพืชในดินแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งแบบเกษตรธรรมชาติ และเกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้าย 

หลักการจัดการทรัพยากรดินตามแนวทางเกษตรยั่งยืน 

หลักการ "เกษตรยั่งยืน" ที่ยอมรับกันในสากลนั้น จะต้องเป็นการเกษตรกรรมที่มีการจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้การผลิตทางเกษตรที่จะสามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของมนุษย์ได้ทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยมีการจัดการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน 

หากพิจารณาตามหลักการนี้ การจัดการทรัพยากรดินตามแนวของการเกษตรยั่งยืนจะต้องประกอบด้วยแนวทางการปฏิบัติดังนี้คือ 

1.มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูง หรือเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดไป ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตรวมมากพอที่จะเลี้ยงประชากรของประเทศที่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพราะปัจจุบันไม่อาจเพิ่มผลผลิตโดยการบุกรุกและขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยการถางป่าได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการปรับปรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์พืชและระบบการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสม ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและน้ำ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรในแต่ละท้องที่ 

2.มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ที่ใช้ในการผลิตอย่างเหมาะสมร่วมด้วย หากเป็นระบบที่ไม่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรควบคู่ไปด้วย จะทำให้ทรัพยากรเสื่อมสภาพ เช่น ดินเสื่อมโทรม และเกิดภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตลดลงจนไม่อาจทำการเกษตรได้อีกต่อไป 

3.เป็นการปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เป็นระบบที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม และสามารถปฏิบัติติดต่อกันไปได้นานหรือตลอดไป โดยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ 

4.จะต้องมีมาตรการสงวนและควบคุมการใช้ที่ดินเกษตรกรรมชั้นหนึ่ง ให้คงไว้สำหรับการเพาะปลูกพืชเป็นการเฉพาะตลอดไป 

หน้าที่ของเกษตรกรกับการใช้ทรัพยากรดินในแนวทางเกษตรยั่งยืน 

ดินหลังจากเปิดป่าใหม่ๆ จะเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ ดินจะมีสภาพโปร่งและร่วนซุยซึ่งเรียกว่าดินมีสภาพโครงสร้างที่ดีเมื่อเกษตรกรปลูกพืช พืชก็จะเจริญเติบโตงอกงามและให้ผลผลิตสูง 

เมื่อดินถูกใช้ทำการเพาะปลูกเป็นเวลานาน ดินจะมีสภาพเสื่อมโทรมลง กล่าวคือ ธาตุอาหารในดินหรือที่เรียกว่าปุ๋ยเดิมในดินจะหมดไป อีกทั้งสภาพโครงสร้างของดินจะค่อยๆ เสียไปจากดินที่เคยโปร่งและร่วนซุยก็จะกลับแน่นทึบและแข็งไถพรวนยาก ดินจะเปลี่ยนจากดินดีกลายเป็นดินเลว ซึ่งในสภาพดังกล่าวจะไม่สามารถปลูกพืชให้ได้ผลดีอีกต่อไป 

เพื่อให้ดินอยู่ในสภาพที่สามารถให้ทำการเพาะปลูกในระบบเกษตรกรที่ยั่งยืนตลอดไป เกษตรกรจะต้องรับผิดชอบในการคืนสมดุลของธรรมชาติกลับสู่ดินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะต้องปรับปรุงดินให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ทั้งในด้านโครงสร้างของดินโดยการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินด้วยวิธีต่างๆ เช่น ด้วยการหมั่นใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือการปลูกพืชบำรุงดิน และปลูกพืชหมุนเวียนต่างๆ และในด้านธาตุอาหารพืชในดินด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มธาตุอาหารที่ขาดอยู่ หรือชดเชยธาตุอาหารในดินที่สูญเสียไปกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวไปจากไร่นา 

การคืนสมดุลของธรรมชาติทั้งในด้านโครงสร้างของดินและธาตุอาหารพืชกลับสู่ดินโดยวิธีดังกล่าวข้างต้น จึงถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของเกษตรกรในแนวทางเกษตรยั่งยืน 

ข้อมูล นสพ.มติชน

ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2550 หน้า 6