เทคโนโลยี'ปุ๋ยสั่งตัด'ทางรอดกับดักต้นทุนข้าวไทย

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ชาวนาไทยได้รับผลกระทบโดยตรง คือ "ต้นทุน" ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ความต้องการเพิ่มผลผลิตไปเพื่อตอบสนองการบริโภคและการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

          ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็ได้เสนอแนวคิด วิธีการ ลดต้นทุนการผลิตในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคงช่วยเหลือเกษตรกรได้บ้างไม่มากก็น้อย ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ได้นำเสนอผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งนำมาใช้จริงแล้วสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาไทยได้อย่างเห็นผล

          ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า"เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด" ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิรูประบบการผลิตข้าวโดยการใช้ปุ๋ยของชาวนาไทยก็ว่าได้ เพราะประสบความสำเร็จในการช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวนามาแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ

          รองศาสตราจารย์ จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะรองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เล่าว่า พืชเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะข้าวยังคงมีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง อันเนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือค่าปุ๋ยเคมี

          หากคิดเป็นต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีมีมากกว่าร้อยละ 20 และเมื่อคิดเป็นมูลค่าในภาพรวมมากกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี!

          "การใช้ปุ๋ยของเกษตรกรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถูกจำกัดด้วยสูตรปุ๋ยที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างกว้างๆ ไม่คำนึงถึงธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดิน ทำให้ต้นข้าวได้รับธาตุอาหารไม่ตรงกับความต้องการ"

          รองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จรัส เล่าต่อว่า ในช่วงปี 2540-2550 สกว. ได้สนับสนุนการวิจัยโครงการ "การพัฒนาระบบการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจ" ซึ่งโครงการดังกล่าว มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" ขึ้น

          ผลจากกระบวนการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดนี้ทำให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องเกิดการเรียนรู้การวิเคราะห์ดิน มีการใช้ปุ๋ยที่ตรงกับชนิดดิน และตามความต้องการของพืช

          ต่อมาปี 2550 และ 2552 กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวเขตชลประทานภาคกลางจำนวน 8 จังหวัด และ 20 จังหวัด ตามลำดับ

          "ผลที่ได้คือเกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ร้อยละ 50 ต้นข้าวมีความแข็งแรง ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และช่วยลดค่าสารเคมีปราบศัตรูพืช"

          นอกจากนั้น เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดการปนเปื้อนของสารพิษในพืชและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรตลอดจนผู้บริโภค อีกทั้งผลงานวิจัยยังสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคการเกษตร

          ดังนั้นการประชุมเพื่อนำเสนอผลงานในครั้งนี้ สกว.จึงต้องการให้เกษตรกรเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีจากการวิจัยซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของระบบผลิตข้าวไทยต่อไป

          ศาสตราจารย์ ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ นักวิจัยผู้คิดค้นเทคโนโลยี อธิบายว่า เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเป็นผลงานวิจัยที่ประกอบด้วย 3 นวัตกรรม คือ 1.คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" ที่พัฒนาจากแบบจำลองการปลูกพืช

          แบบจำลองนี้ได้นำปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชมาพิจารณาร่วมกัน และพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจโดยคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์คำแนะนำปุ๋ยที่เหมาะสมกับลักษณะของการผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด

          2.ชุดตรวจสอบ "เอ็น-พี-เค" ในดิน เป็นผลงานประดิษฐ์ของทีมวิจัยที่ได้เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยชุดตรวจสอบนี้มีความแม่นยำ สะดวก และรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ดินได้ด้วยตัวเอง

          3.กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมที่เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการพึ่งพาตนเอง ทีมวิจัยได้มีการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกร และฝึกให้เกษตรกรผู้นำเป็นนักวิจัย โดยใช้ไร่นาของตนเองเป็น "ห้องทดลอง" ฝึกให้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และต่อยอดความรู้ด้วยเทคโนโลยีจากการวิจัย

          นวัตกรรมที่สามนี้ทำให้เกษตรกรตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการผลิต เกิดการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นรูปแบบการบูรณาการงานวิจัยพัฒนาและงานส่งเสริมการเกษตรเข้าด้วยกัน ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ "นวัตกรรมระบบการวิจัย"

          ด้านนายประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน บอกว่า ทีมวิจัยได้มีการเผยแพร่เทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่

          เมื่อต้นปี 2556 กองทุนคิวม่า มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทำโครงการคลินิกดิน "ปุ๋ยสั่งตัด" โดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกร คลินิกดินนี้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ตั้งแต่ตรวจดิน แนะนำการใช้ปุ๋ย และจำหน่ายแม่ปุ๋ย ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรให้ความสนใจจัดตั้งคลินิกดินแล้ว 16 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด

          "ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า สามารถแก้ปัญหาปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพง และการใช้ปุ๋ยผิดได้อย่างเป็นรูปธรรม"

          ดร.ประทีป บอกว่า ในยุคที่ข้าวไทยต้องแข่งขันกับนานาประเทศทั้งด้านคุณภาพและราคา เกษตรกรไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว และนำเทคโนโลยีจากการวิจัยเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นนั้นไม่สามารถพึ่งพาการปรับราคาขายเพียงด้านเดียว  "สิ่งที่จะทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ยั่งยืนอยู่ที่การลดต้นทุน แต่วิธีการนั้นจะต้องให้ประสิทธิภาพด้านการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการขับเคลื่อนแนวทางการลดต้นทุนดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมคิด ร่วมสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน"

          "ผลการดำเนินงานยังช่วยแก้ปัญหาปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพง และการใช้ปุ๋ยผิดได้ด้วย ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์"