ปุ๋ยสั่งตัด รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่ม ปี 2552

ปุ๋ยสั่งตัด

Tailor Made Fertilizer Outstanding Technologist Award

รางวัลที่ได้รับ : รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่ม ประจำปี พ.ศ.2552

จาก : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

      มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2552 แก่กลุ่มเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อการผลิตพืชอย่างยั่งยืน ที่มีศาสตราจารย์ ดร. ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ในผลงานการพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยที่มีความแม่นยำสูงสำหรับข้าวและข้าวโพด ทำให้เกษตรกรลดค่าปุ๋ยในการผลิตข้าวได้ถึงร้อยละ 47 อีกทั้งผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ7 ซึ่งหากดำเนินการครบถ้วนทั่วประเทศจะช่วยลดค่าปุ๋ยได้มากกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี  สำหรับข้าวโพด ถ้าพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ ใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 หรือคิดเป็นรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี  เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเองภายในเวลา 30 นาที โดยใช้ชุดตรวจสอบ NPK และ pH ในดินแบบรวดเร็วที่มีค่าใช้จ่ายเพียงตัวอย่างละ 50 บาท  นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยให้เกษตรกรผู้นำมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการทดลองนำคำแนะนำการใช้ปุ๋ยจากแบบจำลองไปทดลองในไร่นา ซึ่งเป็นการสร้างเกษตรกรผู้นำให้เป็นนักวิจัย


ประวัติความเป็นมา

      ในปี 2550 ประทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชประมาณ 150 ล้านไร่ ใช้ปลูกข้าว พืชไร่ พืชผัก และไม้ยืนต้น ร้อยละ 59.5, 20.8, 3.8 และ 15.9 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ตามลำดับ  ปุ๋ยจึงมีความสำคัญในการผลิตพืชเหล่านั้น  แต่ปุ๋ยเคมีเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและ มีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      ในปี 2528 ใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าว 589,697 ตัน (เฉลี่ยไร่ละ 9.92 กิโลกรัม) และในปี 2549 ใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเป็น 1,623,123 ตัน (เฉลี่ยไร่ละ 28.21 กิโลกรัม) อัตราการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่ในนาข้าวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า แต่ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 34.7 (จาก 317 เป็น 427 กิโลกรัมต่อไร่)

      เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้คำแนะนำปุ๋ย โดยเฉพาะไนโตรเจน (เอ็น)  ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) เป็นแบบกว้างๆ ตัวอย่างเช่น ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 อัตรา 30 – 50 กิโลกรัมต่อไร่สำหรับการปลูกข้าวหรือข้าวโพดในดินทุกชนิดและทุกจังหวัด ที่เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยเสื้อโหล” (เสื้อมีขนาดเดียว) ไม่มีการวิเคราะห์ดิน แม้ว่าต่อมาจะพัฒนาเป็น “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” (เสื้อมีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่)  โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้นมากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย  แต่ในทางปฏิบัติก็ยังห่างไกลความเป็นจริง

      ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การใช้ปุ๋ยเคมียังไม่มีประสิทธิภาพ หากใช้ปุ๋ยผิดสูตรและปริมาณไม่เหมาะสมย่อมส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช  แต่ถ้าใส่ปุ๋ยเกินความต้องการของพืช นอกจากจะสูญเสียทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

      ระหว่างปี 2540 – 2551 โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลุ่มวิจัยจึงได้ริเริ่มและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำสำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย อีกทั้งต้องการให้เป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรตัดสินใจใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง

      ต่อมาได้เรียกว่า เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” (เสื้อมีขนาดพอดีตัว)  โดยนำข้อมูลพันธุ์พืช แสง อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ชุดดิน และ เอ็น-พี-เค ในดินในขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย  เมื่อใช้ปุ๋ยถูกสูตร ถูกปริมาณ ถูกเวลา และ ถูกวิธี  พืชย่อมแข็งแรง  ส่งผลให้ปัญหาโรคและแมลงลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง


บุคลากรของกลุ่มวิจัย

      กลุ่มเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ประกอบด้วยบุคลากรจากหลากหลายองค์กร ได้แก่ Kyoto University, University of Hawaii, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และ มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน


กรอบแนวความคิดของ เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด”

      หลักคิดพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ได้มาจาก “การเกษตรแม่นยำ” ที่เกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกาถือปฏิบัติมานานกว่า 10 ปี โดยได้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพของไร่นาขนาดเล็กในประเทศไทย 

      เริ่มจากการใช้แบบจำลอง DSSAT (Decision Support System for Agrotechnology Transfer) พัฒนาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน โปรแกรม PDSS (Phosphorus Decision SupportSystem) พัฒนาคำแนะนำปุ๋ยฟอสฟอรัส และใช้สมการ Mitscherlich-Bray พัฒนาคำแนะนำปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งต่อมาได้พัฒนาคำแนะนำปุ๋ยโพแทสเซียมเฉพาะพื้นที่ขึ้น

      ประดิษฐ์ชุดตรวจสอบ NPK และ pH ในดินแบบรวดเร็ว และคู่มือสำรวจดินในภาคสนามอย่างง่าย เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ทั้งยังแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงและความล่าช้าของการวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการ

      พัฒนาโปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ข้าว ข้าวโพด และ อ้อยในภาคอิสาน

      นอกจากนี้ยังพัฒนากระบวนการคัดเลือกเกษตรกรผู้นำให้ร่วมทำแปลงทดสอบและแปลงสาธิต  ซึ่งจะช่วยให้การถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปในวงกว้างได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเสริมขีดความสามารถของเกษตรกร ด้วยการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกรให้หันกลับมาพึ่งตนเอง ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระตุ้นให้สร้างเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นรูปแบบการบูรณาการงานวิจัยพัฒนาและงานส่งเสริมการเกษตรเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างของ “นวัตกรรมระบบการวิจัย”


จุดเด่นของเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด”

      ชุดตรวจสอบ NPK ในดินช่วยให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และราคาถูกกว่าของต่างประเทศ ทั้งยังใช้จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมได้ด้วย

      เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยให้ใช้ปุ๋ยได้เหมาะกับดินและพืช ทำให้การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดลง ไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม  ส่วนโปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้ตั้งแต่ก่อนปลูกพืช ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตอบได้ว่า ถ้าใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำจะได้ผลผลิตเท่าไร? และเมื่อคีย์ข้อมูลราคาปุ๋ย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และราคาขายผลผลิตก็จะได้คำตอบว่า กำไรเท่าไร?

      คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ชุดดินอื่นๆ หรือพันธุ์อื่นๆได้ โดยการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และเปลี่ยนฐานข้อมูลหลักที่สำคัญๆ เช่นเดียวกับระบบสนับสนุนการตัดสินใจหรือแบบจำลองการปลูกพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ

      การเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกรทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คิดพึ่งตนเอง คิดอย่างเป็นระบบ เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและการทดลองในไร่นาด้วยตนเอง  รวมทั้งการยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกร สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญยิ่งในการพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้มั่นคงยั่งยืน

      รูปแบบการบูรณาการงานวิจัยพัฒนาเข้ากับงานส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรผู้นำทำแปลงทดสอบและแปลงสาธิต นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “นวัตกรรมระบบการวิจัย” ที่เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้การขยายผลงานวิจัยได้ง่ายขึ้น เกิดผลงานวิชาการตีพิมพ์ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งผลพลอยได้จากงานวิจัยในรูปของสื่อการศึกษาสำหรับเกษตรกร

การใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน

      1.การตรวจสอบข้อมูลชุดดินโดยใช้คู่มือสำรวจดินในภาคสนามอย่างง่าย สอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.soil.doae.go.th

      2.ตรวจสอบปริมาณเอ็น-พี-เค ในดิน  ใช้ชุดตรวจสอบเอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งเกษตรกรวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองภายใน 30 นาที สอบถามได้ที่ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์  02 942 8104-5

      3.ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้  “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรมคำแนะนำการใช้“ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีจากเว็บไซต์ www.ssnmthai.com

 

คณะผู้วิจัย

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์  และคณะ

ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 02-942-8104

ที่มาข่าว

http://www.rdi.ku.ac.th/kasetresearch53/group02/tassanee/tassanee.html