เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อลดต้นทุน งานวิจัยเด่น สกว. ปี 2554

หัวหน้าโครงการ/นักวิจัย

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์

นายสหัสชัย คงทน                                    ดร.หริ่ง มีสวัสดิ์

ผศ.ดร.ชัยฤกษ์ สุวรรณรัตน์                         ผศ.ดร.กู้เกียรติ สร้อยทอง

ดร.อรุณี เจริญศักดิ์ศิริ                                ดร.ประดิษฐ์ บุญอำพล

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เวียรศิลป์                            ดร.อานันท์ ผลวัฒนะ

ดร.บุรี บุญสมภพพันธ์                                นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์

ดร.ปิ่นเพชร บุญสุข                                   ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์

รศ.ดร.อรรถชัย จินตะเวช                           นายชัยรัตน์ วรรณรัตน์

นายเจตน์ ล่อใจ                                        นายอัธยะ พินจงสกุลดิษฐ

ผศ.พิบูลย์ กังแฮ                                      ผศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์

นายสันติ ธีราภรณ์                                     นายบุญช่วย สงฆนาม

นายวีรวัฒน์ นิลรัตน                                   คุณ นายนิตย์ วงศา

นายณรงค์ วุฒิวรรณ                                  นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ

นางจันทรจิรา สุนทรภัทร                            นางธัญญา ทิพานุกะ

นายรังสรรค์ กองเงิน                                  นายปัญญา ร่มเย็น

นายเฉลิมชาติ ฤาไชยคาม                           นางสาวนลินี เจียงวรรธนะ

นางสาวสมจิต คันธสุวรรณ                          ดร.นิวัฒน์ นภีรงค์

นางไพลิน รัตน์จันทร์

 

ข้าว ข้าวโพดและอ้อย เป็นกลุ่มพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันมากกว่า 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศในการเพาะปลูก พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหาร เอ็น-พี-เค (NPK) ในสัดส่วนและปริมาณไม่เท่ากัน ปริมาณธาตุ เอ็น-พี-เค ที่มีอยู่เดิมในดินแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นก่อนปลูกพืชจึงจำเป็นต้องทราบคุณภาพของดินก่อน การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพจะตอ้ งนำเอาปจั จัยหลักๆ ที่มีผลตอ่ การเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ข้อมูลดิน ชนิดพืชและภูมิอากาศ มาใช้ในการคำนวณปริมาณปุ๋ยที่ควรใส่ให้กับพืชด้วย

 

เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า ควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช ทำไมต้องใส่ปุ๋ย หน้าที่ของปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แตกต่างกันอย่างไร ขณะที่คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับพืชเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงเป็นคำแนะนำปุ๋ยอย่างกว้างๆ เช่น ชาวนามักใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 และ 46-0-0 ส่วนชาวไร่ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ ใช้ปุ๋ย 15-15-15 เป็นต้น

 

การดำเนินงานผลงานวิจัย 

งานวิจัยนี้ใช้หลักการของการเกษตรแม่นยำที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย โครงการได้สร้างโปรแกรมสำเร็จรูปที่บรรจุฐานข้อมูลของประเทศไทย และพัฒนาเป็นคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” 3 ขั้นตอนสำหรับข้าวโพดระหว่างปี 2540-2542 และสำหรับข้าวและอ้อยระหว่างปี 2548-2550 รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปสู่เกษตรกรในหลายจังหวัดตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ขั้นตอนการใช้งานมีดังนี้

 

ขั้นที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน สอบถามข้อมูลชุดดินที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ดูจากแผนที่ชุดดิน หรือสอบถามได้ที่เว็บไซต์ www.soil.doae.go.th

 

ขั้นที่ 2 ตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน เก็บตัวอย่างดิน และวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินโดยใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 นาที

 

ขั้นที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรม SimCorn, SimRice และ SimCane สำหรับข้าวโพด ข้าว และอ้อย ตามลำดับ จากเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th หรือ  ww.banrainarao.com

 

(รายละเอียดสอบถามได้ที่ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0 2942 8104-5 โทรสาร 0 2942 8106)

 

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 

เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับข้าวโพด ข้าวและอ้อย ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช แต่ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพจะสูงขึ้น เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น สามารถผลิตพืชแข่งขันกับนานาประเทศได้ ซึ่งในระยะยาว เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการรวมกลุ่มมีอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิต มีความรู้ความเข้าใจเรื่องดินและปุ๋ยไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อการขายสารปรับปรุงดินและปุ๋ย รวมทั้งไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ดังนี้

 

1. เชิงเศรษฐกิจ คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยเกษตรกรตัดสินใจใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตพืชกับนานาประเทศ ตัวอย่างเช่น

 

ปี 2553 เกษตรกรผู้นำในจังหวัดสระบุรีนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลให้สมาชิกในกลุ่ม ผู้ปลูกข้าว 13 ราย รวมพื้นที่ 571 ไร่ พบว่า ลดค่าปุ๋ยเคมีได้ 506 บาท ต่อไร่ และผลผลิตเพิ่มขึ้น 175 กก.ต่อไร่ นอกจากนี้ยังทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเคยมีค่าใช้จ่าย 300 บาทต่อไร่ ส่งผลให้ค่าปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัด

ศัตรูพืชลดลงรวมมากกว่า 400,000 บาทต่อฤดูปลูก และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น 100 ตัน

 

ปี 2553 สกว. ร่วมกับ ส.ป.ก. นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับข้าวโพดไปขยายผลใน 4 ตำบลของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก พบว่า ช่วยให้ชาวไร่ลดค่าปุ๋ยเคมีจากไร่ละ 1,170 บาท เหลือ 925 บาท ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 1,375 กก. เป็น 1,577 กก. ปี 2553 ชาวไร่อ้อยในจังหวัดอุดรธานีใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ในพื้นที่รวม 500 ไร่ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 3 ตัน และมีกำไรเพิ่มขึ้นไร่ละ 3,000 บาท

 

หากมีการนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปใช้ในการปลูกข้าวในเขตชลประทาน 15 ล้านไร่ จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 15,000 ล้านบาท ส่วนชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 6 ล้านไร่ จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท และชาวไร่อ้อยในพื้นที่ 6 ล้านไร่ จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท

 

 

2. เชิงพาณิชย์ มีการนำเอาชุดตรวจสอบ NPK ในดินแบบรวดเร็วไปดำเนินการในเชิงพาณิชย์ โดยมีบริษัทบุญดินไทย มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนขอเช่าสิทธิการผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

3. เชิงสาธารณะ ก่อให้เกิดการตื่นตัวและการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี “ปุย๋ สั่งตัด” และจัดหาแม่ปุ๋ยมาผสมใช้เอง มีนักธุรกิจและนักวิจัยที่จะทำงานต่อยอดการใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ทำเครื่องผสมปุ๋ยแบบง่ายๆ ให้เกษตรกรใช้ ทำหุ่นยนต์เก็บตัวอย่างดินและวิเคราะห์ดิน การสืบค้นข้อมูลผ่าน SMS เป็นต้น

 

 

4. เชิงนโยบาย ผลการวิจัยได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐ และส่งผลให้เกิดเป็นนโยบาย ดังนี้

 

ปี 2550 กรมส่งเสริมการเกษตรนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวเขตชลประทานภาคกลาง 8 จังหวัด และสรุปว่า ชาวนาลดปุ๋ยเคมีได้ร้อยละ 47 โดยเฉพาะ

 

ปุ๋ยไนโตรเจน (ปุ๋ย 46-0-0) ลดลงได้ร้อยละ 65 และผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก

 

ปี 2551 ส.ป.ก. ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรฯ นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลในพื้นที่ส.ป.ก. ที่ปลูกข้าวหอมมะลิใน 5 จังหวัดภาคอีสานตอนใต้ พบว่า เกษตรกรได้กำไรเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวตามวิธีการที่เกษตรกรถือปฏิบัติอยู่

 

ปี 2552 กรมส่งเสริมการเกษตรนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวเขตชลประทานภาคกลาง 20 จังหวัด พบว่า เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ 400 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูกแต่ถ้านำแม่ปุ๋ยมาผสมใช้เอง จะลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

 

ปี 2552 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ธ.ก.ส. นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง 9 จังหวัด คือ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี และพื้นที่ปลูกข้าวโพด 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา อุทัยธานี และนครสวรรค์ รวม 12 จังหวัด โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรมาทำการฝึกอบรม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้งบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรม โดยมีผู้วิจัยเป็นวิทยากร

 

ปี 2554 รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติจากคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ เป็นต้น ดำเนินการนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อลดต้นทุนการผลิตในพื้นที่นำร่องปลูกข้าวและข้าวโพด และต่อมาให้เพิ่มมันสำปะหลังอีกชนิดหนึ่งด้วย แต่เนื่องจากนักวิจัยยังไม่มีข้อมูลการให้คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับมันสำปะหลัง โครงการฯ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ให้รายละเอียดเชิงวิชาการ ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรยังคงดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีของโครงการฯ นี้อยู่

 

5. เชิงวิชาการ มีการจดสิทธิบัตรชุดตรวจสอบ NPK ในดินแบบรวดเร็ว 1 เรื่อง นำไปสู่การสร้างชุดตรวจสอบธาตุอาหาร NPK ในดิน (KU Soil Test Kit) ในเชิงพาณิชย์

 

ผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ 7 เรื่อง และในประเทศ 7 เรื่อง ส่วนที่นำเสนอในการประชุมประจำปีและเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ 11 เรื่อง และในประเทศ 4 เรื่องรายงานวิจัย 6 เรื่อง บทความภาษาไทย 41 เรื่อง วิทยานิพนธ์ นิสิตปริญญาเอก 2 เรื่อง และปริญญาโท 4 เรื่อง

 

เอกสารคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับเกษตรกร และ CD โปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ของข้าวโพด ข้าวและอ้อย สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ DVD บรรยายเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” และการวิเคราะห์ดิน นอกจากนี้ ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ KU Soil Test Kit ให้แก่นักวิชาการและเกษตรกรในต่างประเทศด้วย

 

6. การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กระบวนการเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกร ผู้นำได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เกษตรกรหันกลับมาคิดพึ่งตนเอง รวมทั้งให้ใช้ข้อมูลและความรู้ประกอบการตัดสินใจ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรและวิถีชีวิตของเกษตรกร ซึ่งย่อมส่งผลต่อครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นในท้ายที่สุด ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th

 

 

จุดเด่นของโครงการ 

1. ผลงานวิจัยสามารถแก้ปัญหาที่เป็น “จุดคอขวด” ในการใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจถึง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดและอ้อย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนปี 2558

 

2. ผลงานวิจัยมีความสมบูรณ์ครบวงจร ได้ทั้งชุดตรวจสอบธาตุอาหาร NPK ในดินแบบรวดเร็ว (KU Soil Test Kit) โปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” และสื่อหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเกษตรกรสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง จึงเป็นการสร้าง “จุดเปลี่ยน” การใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทย

 

3. ชุดตรวจสอบธาตุอาหาร NPK ในดินแบบรวดเร็ว (KU Soil Test Kit) นอกจากช่วยประหยัดเงินตราประเทศในการนำเข้าชุดตรวจสอบจากต่างประเทศแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศที่มีห้องปฏิบัติการไม่เพียงพอ

 

4. โครงการวิจัยได้ออกแบบและพัฒนากระบวนการทำงานวิจัยแบบบูรณาการหลายหน่วยงานทั้งงานวิชาการ งานส่งเสริม และงานขับเคลื่อนทางสังคม โดยให้เกษตรกรผู้นำเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วย จึงเป็นการสร้างเกษตรกรผู้นำ

 

5. โครงการวิจัยได้สร้างผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สร้างฐานข้อมูลที่สามารถนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ในพื้นที่อื่น หรือสำหรับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น และสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้สอนนิสิตปริญญาโทและเอก เกิดสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปในเรื่องของดินและปุ๋ย เป็นงานวิจัยที่ทันสมัย ปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้

ที่มาข่าว

http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=904&Itemid=161