มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะใช้ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุนการผลิต

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากเกษตรกรไทยสามารถนำเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" ที่ถูกต้องมาใช้งานจริงได้ จะช่วยลดต้นทุนด้านการเกษตร และทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ผลผลิตต่อไร่มีมากขึ้นและขายได้ราคาดี โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมและขออาสาเข้าไปร่วมขับเคลื่อนโครงการ "ปุ๋ยสั่งตัด” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินงานที่ผ่านมายังมีความคลาดเคลื่อนด้านการใช้เทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" เนื่องจากไม่มีการวางจำหน่าย หรือสามารถหาซื้อได้ทั่วไป

ซึ่ง "ปุ๋ยสั่งตัด" สามารถใช้ได้เฉพาะนาข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไร่อ้อยในภาคอีสานเท่านั้น ส่วนการใช้เทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" ที่ถูกต้องนั้นมี 3 ขั้นตอน คือ เกษตรกรต้องมีการตรวจสอบชุดดินก่อน และต้องวิเคราะห์ N-P-K (ไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส- โพแทสเซียม) ในดิน เพื่อดูชนิดและปริมาณของธาตุอาหารหลักในดินให้เพียงพอกับการปลูกพืช แล้วจึงใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" ตามคำแนะนำของคู่มือนักวิจัย เพื่อความเหมาะสมกับการทำการเกษตรในพื้นที่ 

พร้อมเสนอให้กลุ่มสหกรณ์เกษตร ร่วมจัดตั้งคลินิกดินในพื้นที่ เพื่อให้บริการตรวจดิน, แนะนำการใช้ปุ๋ย และขายแม่ปุ๋ยแก่เกษตรกร โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อแม่ปุ๋ยจำหน่ายแก่สมาชิก "ปุ๋ยสั่งตัด" ด้วย โดยกรมพัฒนาที่ดิน ควรทำแอปพลิเคชันเกี่ยวกับชุดค้นหาดินบนมือถือ ให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้สะดวกขึ้น