กว่าจะมาเป็นปุ๋ยสั่งตัด (2)

คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังว่าผลงานวิจัยของ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ซึ่งทำเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องในข้าวโพด และนาข้าว จนกระทั่งได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2552 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอแก้ไขเล็กน้อยจากคราวที่แล้วที่บอกว่าเป็นสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ แต่ที่ถูกต้องคือมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ครับ

หลังจากที่คณะนักวิจัยได้สร้างคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ซึ่งช่วงแรกเป็นเรื่องคำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในข้าวโพด โดยอิงอยู่บนค่าของการวิเคราะห์ดิน และชุดดินแต่ละแห่ง แล้วก็ได้สร้างเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินอย่างรวดเร็วและใช้ได้ง่ายโดยเกษตรกร ซึ่งชุดตรวจสอบดินดังกล่าวได้มีเอกชนนำไปผลิตและขยายผลให้มีการใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย และบางประเทศก็สนใจสั่งซื้อไปใช้ด้วยเช่นกัน รวมทั้งได้มีความพยายามในการผลักดันสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการขยายผลความรู้นี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง

หลังจากประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีการใช้กับข้าวโพดได้ผลพอสมควร ทางกลุ่มนักวิจัยก็ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ต่อ โดยให้มีการวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยในนาข้าวอีกพืชหนึ่ง นักวิจัยก็ได้ใช้หลักการเดิมในการพัฒนาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยในนาข้าว และสิ่งที่ได้ค้นพบเป็นเรื่องสำคัญมากว่า เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างสูญเปล่ามานาน เพราะว่าใส่ไปแล้วไม่ตอบสนองเท่าที่ควร

มีการวิเคราะห์ดินและพบว่าหลายแห่งขาดธาตุโพแทสเซียม ซึ่งในคำแนะนำปุ๋ยข้าวทั่วไปแต่เดิมนั้น ไม่มีการใช้โพแทสเซียมเลย เมื่อมีการเพิ่มปุ๋ยโพแทสเซียมเข้าไป และลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ที่ปกติมีการใช้เกินความจำเป็น ผลปรากฏว่าผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการใช้ปุ๋ยโดยรวมลดลง เพราะมีการเพิ่มโพแทสเซียมนิดหน่อยแต่ลดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสได้มากเกือบครึ่ง

จากจุดนี้เองที่หน่วยงานอย่างเช่น ส.ป.ก. ให้ความสนใจและนำไปขยายผลในพื้นที่ของ ส.ป.ก. และค่อนข้างเห็นผลชัดเจน ตอนนี้ได้มีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่นมีความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แห่งชาติฯ หรือเนคเทค เพื่อพัฒนาโปรแกรมการให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดดินและให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยโดยผ่านทาง SMS ในโทรศัพท์มือถือ เรียกได้ว่าเมื่อเกษตรกรใช้ชุดตรวจสอบดินและทราบผลแล้วมีระดับธาตุอาหารแต่ละอย่างเป็นอย่างไร ก็ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อไปที่ศูนย์ข้อมูลและใส่ข้อมูลค่าวิเคราะห์ต่างๆ ลงไป ก็จะได้รับ SMS ตอบกลับมาว่าควรใช้ปุ๋ยอะไรในปริมาณเท่าใด เป็นต้น การพัฒนาเหล่านี้คงต้องมีต่อไปเพื่อเพิ่มความสะดวกและแม่นยำมากขึ้น 

ความยากลำบากของการผลักดันให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยในข้าวโพด ข้าว และพืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ก็คือการยอมรับของหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เพราะว่าหลายแห่งยังมีความเชื่อเดิมอยู่ในศาสตร์ที่ตนเองมีอยู่ และไม่ค่อยเห็นความสำคัญหรือยอมรับวิธีการใหม่เช่นนี้ รวมทั้งเป็นเรื่องของการยึดติดและกลัวการเสียหน้า

ดังนั้น หากไม่สามารถผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้หน่วยงานระดับสูงยอมรับในเทคโนโลยีนี้ การขับเคลื่อนเพื่อให้มีการใช้ในวงกว้าง ก็คงเป็นไปได้ลำบาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ความพยายามของทีมวิจัยก็เริ่มใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เพราะว่าเกษตรกรบางกลุ่มได้นำความรู้นี้ไปใช้และเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จนกระทั่งมีการบอกต่อและปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการปุ๋ยสั่งตัดมากขึ้น รวมทั้งเรื่องสำคัญคือการที่มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตัดสินให้รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นในเรื่อง "ปุ๋ยสั่งตัด" จึงเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมานั้น มีประโยชน์อย่างมหาศาลครับ

รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ

นสพ.คมชัดลึก

26 ตุลาคม 2552