กว่าจะมาเป็นปุ๋ยสั่งตัด (1)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการตัดสินรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2552 จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโอกาสการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 35

และได้มอบรางวัลดีเด่นในด้านต่างๆ แก่ผู้ที่มีผลงานระดับยอดเยี่ยมของประเทศ ซึ่งในปีนี้ก็น่ายินดีที่งานเรื่องปุ๋ยสั่งตัด ของ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ดร.ทัศนีย์ ได้เริ่มโครงการการพัฒนาระบบคำแนะนำปุ๋ยข้าวโพด และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. ผลจากการวิจัยครั้งนั้นทำให้ทราบว่าเกษตรกรใช้ปุ๋ยด้วยความไม่รู้ ทำให้สิ้นเปลืองเงินค่าปุ๋ยเคมี โดยได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ดร.ทัศนีย์ จึงพยายามหลายอย่างในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการใช้ปุ๋ยดังกล่าว โดยทั้งหมดนี้ต้องตั้งอยู่บนความง่าย ไม่ยุ่งยาก และต้องไม่สร้างภาระให้เกษตรกร

ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการให้ปุ๋ยที่ถูกต้องก็คือ ต้องรู้ความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ตัวเองก่อน ซึ่งวิธีที่จะต้องทำก็คือการเจาะดินแล้วส่งไปตรวจตามห้องปฏิบัติการของทางราชการ เพื่อวิเคราะห์แล้วบอกได้ว่าดินนั้นเป็นดินอะไร มีธาตุอาหารอยู่มากน้อยเพียงใด และจำเป็นต้องใส่อะไรเพิ่มเติมในปริมาณที่เหมาะสม แต่ปัญหาก็คือว่ากว่าจะขุดดินไปตรวจ และกว่าจะได้รับทราบผลการวิเคราะห์ ก็มักจะเลยเวลาการใส่ปุ๋ยไปแล้ว และหากเจาะดินไม่ถูกต้อง ก็จะได้คำตอบที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

 

กลุ่มนักวิจัยที่มี ดร.ทัศนีย์ เป็นแกนนำ ก็เลยพัฒนาชุดตรวจสอบเอ็นพีเคในดินอย่างง่ายขึ้นมา ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ดินของตนเองได้ โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก็ทราบแล้วว่าดินของตนเองมีธาตุอาหารหลักพอเพียงต่อการเติบโตของพืชหรือไม่ พร้อมทั้งพัฒนาคำแนะนำการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ โดยทำอย่างง่ายคือจัดระดับความสมบูรณ์ของดินโดยประเมินค่าจากธาตุอาหารเป็น 3 ระดับคือ สูง กลาง ต่ำ แล้วเทียบกับตารางดูว่า ดินของเกษตรกรนั้นเป็นชุดดินอะไร ซึ่งก็มีคู่มือให้เทียบ เชื่อหรือไม่ว่าเกษตรกรไทยสามารถบอกชุดดินของตนเองได้อย่างถูกต้องโดยใช้คู่มือดังกล่าว แล้วก็สามารถประมาณการผลผลิตได้ด้วยว่าหากใส่ปุ๋ยตามปริมาณที่กำหนดแล้ว จะได้ผลผลิตเท่าใด

หลังจากที่ได้ข้อมูลและความรู้ในการจัดการดินสำหรับการปลูกข้าวโพดแล้ว ก็เริ่มมีการขยายผลในวงกว้างให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ โดยการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร และธ.ก.ส. ซึ่งก็แน่นอนว่าทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะว่าการผลักดันของใหม่ๆ ให้มีการยอมรับนั้น ต้องมีแรงเสียดทานค่อนข้างสูง แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จพอสมควร มีการขยายเครือข่ายความรู้ออกไปอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างเกษตรกรผู้รู้และใช้ประโยชน์จากผลงานนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นลูกโซ่ สำหรับชุดตรวจสอบเอ็นพีเคในดินก็ได้รับการยอมรับและมีคนอยากใช้เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

ที่เล่ามาข้างต้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าสู่เรื่องของปุ๋ยสั่งตัดในปัจจุบัน แต่ก่อนจะถึงเรื่องปุ๋ยสั่งตัด ก็ต้องมีการเตรียมความรู้ให้พร้อมใช้ในหลายๆ ด้าน และสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน นั่นก็คือในปี 2545 ดร.ทัศนีย์ จึงได้รับการสนับสนุนโครงการจาก สกว.อีกโครงการหนึ่ง เป็นเรื่องการพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยสำหรับนาข้าวชลประทาน

จากจุดนั้นเอง ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่เรื่องปุ๋ยสั่งตัด คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ

รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ

นสพ.คมชัดลึก

19 ตุลาคม 2552