การแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง

ถึงแม้ในปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นมาก แต่ปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยเคมี มีราคาสูงขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าหลายเท่า ทำให้ต้นทุนการผลิตมีราคาสูงขึ้น เมื่อปัจจัยการผลิตมีราคาสูงก็ก่อให้เกิดการปลอมแปลงวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี

วิธีแก้ปัญหาที่เกษตรกรมักได้รับคำแนะนำในปัจจุบันคือพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมี หรือหาปุ๋ยอย่างอื่นมาทดแทน ดังนั้น คำว่า ปุ๋ยชีวภาพ และ ปุ๋ยอินทรีย์ จึงกลับมาฮิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

การลดการใช้ปุ๋ยเคมีจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างชัดเจน แต่ต้องทำความเข้าใจว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากใส่ปุ๋ยเคมีน้อยเกินไป พืชย่อมได้รับธาตุอาหารน้อยตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือผลผลิตลดลง แต่คำถามคือเกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตรอะไรและในปริมาณเท่าใดจึงจะพอดี หมายความว่า พอเพียงต่อความต้องการของพืชและไม่เหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานหลายแห่ง ได้ศึกษาเรื่องการใช้ปุ๋ยข้าวและข้าวโพด โดยอิงตามค่าการวิเคราะห์ดิน หรือ “ปุ๋ยสั่งตัด” ในพื้นที่หลายจังหวัด กรณีของข้าวพบว่า เกษตรกรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเกินความต้องการของต้นข้าว แต่ละเลยการให้ปุ๋ยโพแทสเซียม ผลคือเสียเงินค่าปุ๋ยไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะปุ๋ยส่วนเกินนั้นไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร เมื่อมีการวิเคราะห์ดิน แล้วจัดการให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ที่ได้ สามารถลดปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ร้อยละ 65 ลดปุ๋ยฟอสฟอรัสลงได้ร้อยละ 43 แต่ต้องเพิ่มปุ๋ยโพแทสเซียมร้อยละ 48 จากเดิมที่เคยใช้อยู่ ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 ทำให้ค่าปุ๋ยเคมีลดลง 241 บาทต่อไร่ (ราคาปุ๋ยเดือนมกราคม 2550 ) เมื่อให้ปุ๋ยไนโตรเจนน้อยลง ต้นข้าวก็ไม่ฉ่ำน้ำ จึงต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคได้ดีขึ้น และต้นข้าวมีสีไม่เขียวเข้มเกินไป ช่วยลดการล่อตาล่อใจแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายจึงช่วยลดการใช้สารเคมีลงได้ จากการประเมินคร่าวๆ สามารถลดค่าสารเคมีได้ 178 บาทต่อไร่ ค่าใช้จ่ายส่วนเกินนี้เป็นต้นทุนที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ หากลดต้นทุนส่วนนี้ได้ก็จะเป็นกำไรเพิ่มขึ้นมาทันที

หลักคิดการลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ย คือการให้ปุ๋ยตามความต้องการของดินและพืช หมายความว่า พืชที่ปลูกในดินแต่ละพื้นที่มีความต้องการปุ๋ยไม่เท่ากัน การที่รู้ว่าที่ใดควรใส่ปุ๋ยอะไร จำนวนเท่าใด ต้องอาศัยการวิเคราะห์ดินเป็นหลัก แต่หน่วยงานให้บริการวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกรมีไม่เพียงพอ และใช้เวลานาน การวิเคราะห์ดินมีความสำคัญและจำเป็นไม่ว่าจะปลูกพืชระบบเกษตรเคมีหรือเกษตรอินทรีย์ เพราะจะทำให้เราทราบว่าหลังจากผลิตพืชแล้วธาตุอาหารในดินลดลงไปจากเดิมหรือไม่ ดินเสื่อมโทรมลงไปหรือยัง?

ดังนั้น ทีมงานจึงได้พัฒนาชุดตรวจสอบธาตุอาหารในดินอย่างง่าย เป็นเครื่องมือที่เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง และรู้ผลภายในไม่เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเริ่มใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันและมีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง หรือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ในปัจจุบัน คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไม่ได้คำนึงถึงสมบัติทางเคมีและกายภาพของดินแต่ละชนิด ซึ่งมีศักยภาพ (พลัง) ในการผลิตไม่เท่ากัน เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่เหมือนกันในดินทุกชนิดเมื่อดินมีค่าวิเคราะห์เอ็น-พี- เค เท่ากัน ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่แตกต่างกันในแต่ละชุดดินถึงแม้ว่าดินมีเอ็น–พี–เค เท่ากัน ตัวอย่างเช่น คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับข้าวโพดของชุดดินปากช่องใน จ. นครราชสีมา กับ จ.ลพบุรี ไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่ค่าวิเคราะห์ เอ็น – พี –เค ในดินเท่ากัน

ที่ผ่านมาเกษตรกรมีความเชื่อว่า ถ้าใส่ปุ๋ยมาก จะทำให้ผลผลิตสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใส่ปุ๋ยมากโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน จะทำให้พืชอวบ เต่งตึง แมลงก็มากิน เกษตรกรจึงต้องฉีดยาฆ่าแมลงมาก ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่าย ต้นทุนจึงสูง

นอกจากนี้เกษตรกรยังเข้าใจผิดว่า ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ทั้งหมดในการเพิ่มธาตุอาหาร และปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ถ้าปุ๋ยอินทรีย์ (2-1-1) ราคาตันละ7,000 – 12,000 บาท ( ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหารเท่ากับ 175 – 300 บาท) ส่วนปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ราคาตันละ 28,000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหารเท่ากับ 61 บาท ) เนื่องจาก ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารต่ำกว่าปุ๋ยเคมีมาก จึงมีราคาต่อหน่วยธาตุ

อาหารสูงกว่าปุ๋ยเคมี หากนำมาใช้ตามความต้องการของพืช เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่สูงมาก ทำให้รายจ่ายสูงขึ้น

ตัวอย่าง เช่น คำแนะนำปุ๋ยไนโตรเจนเท่ากับ 8 กก.ต่อไร่ ถ้าใช้ปุ๋ยยูเรีย จะต้องใช้ 17 กก. ต่อไร่ ในพื้นที่ 10,000 ไร่ ต้องใช้ปุ๋ยยูเรีย 170 ตัน ปุ๋ยยูเรียตันละ 28,000 บาท คิดเป็นเงินเท่ากับ 4.8 ล้านบาท ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องใช้ 400 กก.ต่อไร่ ในพื้นที่ 10,000 ไร่ ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 4,000 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ ตันละ 5,000 บาท คิดเป็นเงินเท่ากับ 20 ล้านบาท การใช้ปุ๋ยเคมีจึงถูกกว่าปุ๋ยอินทรีย์

หลักคิดอีกประการหนึ่งในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ควรนำเอาวัสดุธรรมชาติ เช่น เศษพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ต่างๆที่มีอยู่มาไถกลบลงไปในดิน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน และควรปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชหลักเพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดิน

การปรับปรุงบำรุงดินที่ถูกต้องเพื่อให้ดินดีและยั่งยืนนั้น ต้องใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกัน เพราะทำหน้าที่แตกต่างกัน ปุ๋ยเคมีให้ธาตุอาหารเป็นหลัก ใช้เพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะชดเชยธาตุอาหารในดินที่สูญเสียออกจากไร่นา ปุ๋ยเคมีไม่ช่วยปรับปรุงให้ดินโปร่ง ร่วนซุย การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสดอย่างต่อเนื่องจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ดังนั้น การใชัคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เกษตรกรควรนำไปปฏิบัติ เพราะแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงได้ที่ต้นเหตุ

การใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน สอบถามข้อมูลชุดดินได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือใช้คู่มือ

ตรวจสอบชุดดินที่ทีมงานได้จัดทำขึ้น ทั้งดินไร่และดินนา

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน เก็บตัวอย่างดิน และวิเคราะห์ เอ็น- พี-เค ในดิน โดยใช้ชุด

ตรวจสอบ N-P-K ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 นาที

ขั้นตอนที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรม SimCorn

สำหรับข้าวโพด และ SimRice สำหรับข้าว ในเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th (หรือ www.ssnmthai.com ในปัจจุบัน) และสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 02-942-8104-5 แฟกซ์ 02-942-8106

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์

ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์