ใส่ปุ๋ยถูกต้อง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดปัญหาโรคแมลง
คุณภาพของดิน คือ รากฐานของชีวิตเกษตรกร
นอกจากพันธุกรรมพืช น้ำ (ฝน/ชลประทาน) ลม (ความชื้น) ไฟ (อุณหภูมิ)
และการจัดการของเกษตรกรที่เป็นปัจจัยควบคุมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชแล้ว
คุณภาพของดินยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการเพาะปลูกพืช
ดังนั้น คุณภาพของดินจึงเปรียบเสมือนรากฐานของชีวิตเกษตรกร
เทคโนโลยีใหม่ : การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่
พืชต้องการธาตุอาหาร 17 ธาตุ พืชได้ 3 ธาตุจากน้ำและอากาศ ส่วนอีก 14 ธาตุได้จากดิน
และใน 14 ธาตุนั้น 3 ธาตุที่พืชใช้มาก ได้แก่ ไนโตรเจน (เอ็น, N) ฟอสฟอรัส (พี, P)
และโพแทสเซียม (เค, K) เรียกว่า ธาตุอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยเคมีที่ขายทั่วไป
สูตร 16-20-0 สูตร 15-15-15 เป็นต้น ที่เหลืออีก 10 ธาตุนั้น พืชใช้ในน้อย เรียกว่า
ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม (จุลธาตุ) เช่น เหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn) โบรอน (B)
ถ้าต้องการให้พืชเจริญเติบโตได้ปกติ พืชต้องได้รับธาตุอาหารครบถ้วนและพอเพียง
ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง ธาตุนั้นจะจำกัดการเจริญเติบโตของพืช
ประเทศไทยมีดินที่ใช้เพาะปลูกพืชมากกว่า 200 ชุดดิน มีศักยภาพ (กำลัง) ที่แตกต่างกัน
การจำแนกชุดดินใช้สมบัติของดินที่เปลี่ยนแปลงยาก ได้แก่ เนื้อดิน สีดิน ความลึก
ความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น ข้อมูลชุดดินจึงไม่เปลี่ยน แตกต่างจากความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ผันแปรไปตามการใช้ที่ดินและการจัดการดิน จึงควรนำข้อมูลชุดดินมาพิจารณาในการใช้ปุ๋ยด้วย
“ขณะที่ผลผลิตราคาถูก แต่ปุ๋ยเคมีราคาแพง
คำแนะนำปุ๋ยแบบหยาบๆ ที่ใช้กันอยู่
จึงไม่เหมาะสมกับยุคสมัยอีกต่อไป
เกษตรกรควรนำข้อมูลชุดดิน และข้อมูล NPK ในดิน
มาประกอบการตัดสินใจใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ช่วยให้การใช้ปุ๋ยถูกต้องมากขึ้น
เนื่องจากนำปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งพันธุ์กรรมพืช อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน
ชุดดิน ปริมาณ NPK ในดิน ฯลฯ มาพิจารณาร่วมกันโดยสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์
เพื่อพัฒนา “เครื่องมือ” ช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องด้วยตนเอง
|