ปุ๋ยสังตัด ฉีกกฏหว่านปุ๋ยทิ้ง ใช้ปุ๋ยตรงพืช ตรงดิน ลดต้นทุน

เมื่อร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ... ผืนดินก็เช่นเดียวกัน มันจำเป็นต้องมีธาตุอาหารคอยหล่อเลี้ยงเพื่อบำรุงโครงสร้างให้อยู่ในสภาพดี และเพื่อทดแทนธาตุอาหารที่ถูกพืชดูดดึงไปใช้

ธาตุอาหาร N - P - K (ไนโตรเจน – ฟอสฟอรัส - โพแทสเซียม) ที่ผ่านการผลิตทางเคมี ซึ่งเกษตรกรรู้จักกันดีในนามของ “ปุ๋ยเคมี” นั้น ก็คือ อาหารที่จำเป็นสำหรับพืช แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่าเกษตรกรมักใช้ปุ๋ยเคมีตามความคุ้นเคย โดยมองข้ามไปว่าแท้จริงแล้ว ดินและพืชที่ปลูกต้องการธาตุอาหารใด ปริมาณเท่าไหร่ หรือปุ๋ยสูตรที่จำหน่ายตามท้องตลาดนั้นเหมาะสมกับพืชและดินแล้วหรือไม่

เกษตรกรหลายรายยึดติดกับความคิดที่ว่า ใส่ปุ๋ยมาก ได้ผลผลิตมาก แต่สุดท้ายก็ได้พบความจริงว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ผลผลิตแต่เป็นต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้นแบบเท่าทวีคูณ หากการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากกว่าความต้องการของดินและพืช นั่นหมายความว่า เกษตรกรกำลังฉีกเงิน ฉีกสตางค์ แล้วหว่านทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ นั่นเอง

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใส่ปุ๋ยชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ??? … หลายคนตั้งคำถาม

คำตอบจาก ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านปุ๋ยแก่เกษตรกรมาตลอดเกือบ 10 ปี ก็คือ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือการใช้ปุ๋ยเฉพาะที่เฉพาะทางตามค่าวิเคราะห์ดิน เจาะจงความเหมาะสมเฉพาะแปลงของเกษตรกรแต่ละราย

“ ปุ๋ยเคมีทั่วไป เปรียบเทียบได้กับเสื้อผ้าที่ขายในท้องตลาด ที่เรียกกันว่าเสื้อโหล ซึ่งอาจจะไม่พอดีกับเรา ต่างกับเสื้อสั่งตัดที่เป็นขนาดของเราโดยเฉพาะ ปัจจุบันเกษตรกรยังใช้ปุ๋ยแบบเสื้อโหล นั่นหมายความว่า คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเฉพาะข้าวหรือข้าวโพดจะใช้ทั้งสูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเหมือนกันหมดทุกดินในประเทศไทย แต่ดินในประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด แล้วจะให้เหมือนกันทั้งหมดได้อย่างไร”

ดังนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วย ดร.ทัศนีย์ รวมทีมวิจัยนำแบบจำลองการปลูกพืชมาพัฒนา คำแนะนำปุ๋ยโดยนำปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ดิน พืช และภูมิอากาศ มาร่วมคำนวณหาข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อให้ได้คำแนะนำปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพจากโปรแกรม จากนั้นนำมาทดสอบในแปลงทดสอบและแปลงสาธิต

ผลจากการวิจัยดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน ธ.ก.ส. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ได้นำคำแนะนำ”ปุ๋ยสั่งตัด”ไปขยายผลกับข้าวนาชลประทาน 8 จังหวัดภาคกลางในปี 2550 ปรากฏว่าได้ผลดีมาก พบว่าถ้าใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแล้วค่าปุ๋ยเคมีต่อไร่ต่อฤดูปลูกลดลงร้อยละ 47 ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในปี 2551 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำลังนำไปขยายผลกับนาข้าว 1 ล้านไร่ในภาคกลางและอีสานอีก 20,000 ไร่

“ปุ๋ยส่งตัด” เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่แตกต่างกันในดินแต่ละชนิด ในกรณีที่เป็นดินชนิดเดียวกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่ วิเคราะห์ดินแล้ว มีเอ็นพีเคเท่ากัน แต่น้ำฝนไม่เท่า อากาศไม่เท่า แสงแดดไม่เท่า ก็จะมีคำแนะนำที่ต่างกัน ดังนั้นคำแนะนำ”ปุ๋ยสั่งตัด”จึงเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่ละเอียดอ่อนมากและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เหมือนกับเราใส่เสื้อผ้าที่พอดี แต่เกษตรกรยังต้องมีการปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองเพิ่มเติมจะได้เป็นข้อมูลเฉพาะดินของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนใครแม้กระทั่งแปลงใกล้เคียง เพราะลักษณะดินและการจัดการดินมีส่วนทำให้ธาตุอาหารในดินแตกต่างกัน”

แต่เมื่อเอ่ยถึง “การวิเคราะห์ดิน” แล้ว สิ่งที่ต้องผุดอยู่ในความคิดของเกษตรกรทันทีก็คือ “เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก!!”

“การตรวจดินเป็นเรื่องที่เกษตรกรทำได้ ไม่ยุ่งยากเลย เพราะขั้นตอนที่สลับซับซ้อนเราทำให้มันง่ายแล้ว เพียงแค่เกษตรกรต้องเก็บดินในวิธีการที่ถูกต้อง เปลี่ยนพฤติกรรมจากปกติที่ซื้อปุ๋ยมาโยน ๆ มาลองเก็บดินให้ถูกวิธี และมาดูว่าเป็นดินชุดใด และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือว่ามีธาตุอาหารอะไรอยู่ในดินบ้าง จากนั้นก็นำค่าที่ได้มาเทียบเคียงกับตารางคำแนะนำการใช้ ”ปุ๋ยสั่งตัด” แต่ต้องเป็นปัจจุบันที่สุด ไม่ใช่นำผลวิเคราะห์ดิน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เก็บใส่ลิ้นชัก เมื่อถึงเวลาแล้วเก็บขึ้นมาใช้ เพราะดินมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็เหมือนกับคนเรามีอ้วนมีผอม เสื้อผ้าชุดเดิมก็อาจใส่ไม่ได้แล้ว มีเกษตรกรบางรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 มานานมากซึ่งหมายความว่าไม่มีธาตุอาหารตัวท้าย แต่ปรากฎว่าเมื่อนำดินไปวิเคราะห์ปุ๊ป ดินในแปลงดังกล่าวขาดตัว K ดังนั้นแม้จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ไปมากแค่ไหนดินก็ไม่เคยได้รับธาตุอาหารที่ขาด การใช้ปุ๋ยต้องมีความสมดุล ตามปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน จึงต้องมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ซึ่งขั้นตอนการวิเคราะห์ดินง่ายมาก แต่เกษตรกรที่ยังไม่เคยลงมือมักจะมองว่าเป็นเรื่องยาก”

วิธีการตรวจสอบชุดดินสามารถปฏิบัติตามคู่มือตรวจสอบชุดดินที่ทีมงานได้พัฒนาขึ้น หรือสามารถสอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ส่วนการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ก็สามารถวิเคราะห์เองได้ภายใน

การลงทุนจุดนี้ หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มใช้ชุดตรวจสอบร่วมกัน หรือทางผู้นำชุมชน อบต. อบจ. หรือศูนย์ชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนก็นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งเมื่อได้ค่าวิเคราะห์ดินเสร็จแล้ว เกษตรกรก็สามารถนำมาเทียบเคียงกับคู่มือแนะนำการใช้ปุ๋ย หรือในท้ายเล่มหนังสือธรรมชาติของดินและปุ๋ย หรือคำนวณเองง่าย ๆ ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถดาว์นโหลดมาใช้ได้จากเว็ปไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th

และเร็ว ๆ นี้ เกษตรกรยังสามารถรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยผ่านมือถือได้ง่าย ๆ โดยระบบ SMS ซึ่งเป็น ความร่วมมือระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์อิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

มาถึงบรรทัดนี้มีคำถามตั้งขึ้นต่อว่า แล้วจะนำปุ๋ยตามคำแนะนำมาจากที่ใด ???

คำตอบก็คือ การใช้แม่ปุ๋ย N P K เป็นหลัก นำมาผสมตามสัดส่วนตามคำแนะนำนั่นเอง

“อาจจะไม่ง่ายเหมือนการซื้อปุ๋ยสูตร แต่การใช้แม่ปุ๋ย จะช่วยลดปัญหาปุ๋ยปลอมระบาดได้ส่วนหนึ่ง เพราะปัญหาทุกวันนี้คือเกษตรกรกรใส่ปุ๋ยเท่ากับใส่ดิน แต่ปัจจุบันพบปัญหาอีกว่าแม่ปุ๋ยก็หาได้ยาก จังหวะเหมาะที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายหนึ่งที่สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มสั่งซื้อแม่ปุ๋ยนำเข้าผ่านบริษัทเพื่อให้ได้แม่ปุ๋ยในราคาที่ถูกกว่าได้ ที่ต่างประเทศไม่ได้ขาดแคลนเลย ส่วนปุ๋ยสูตรที่นิยมใช้นั้นหน้าตาก็เหมือนกันไปหมด เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือปลอมจนกว่าจะมาวิเคราะห์ทางเคมี ปรากฏว่ามีคนไปเจอสูตร 15-15-15 ผลคือมีแค่ 11-1-1 นี่เป็นต้นเหตุของเรื่องที่เกษตรกรแปลกใจว่าทำไมใส่ปุ๋ยไปแล้วมันเขียวแค่แป๊ปเดียว นั่นก็เพราะธาตุอาหารมีแค่นิดเดียวเท่านั้น” ดร.ทัศนีย์กล่าวเสริม

จากผลการใช้งานจริงของเกษตรกรตัวอย่างเคยใช้ปุ๋ยรวม 72 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อวิเคราะห์ดินแล้วเหลือ 25 กิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตไม่ต่างกันมาก บางรายลดการใช้ปุ๋ยเหลือ 1 ใน 3 เฉลี่ยแล้วพบว่าเกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ย 38-49% นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ที่ผ่านมาเกษตรกรเข้าใจว่าใส่ปุ๋ยมากจะทำให้ผลผลิตมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ชอบคือแมลง เพราะไนโตรเจนทำให้พืชอวบ เต่งตึง แมลงก็มากิน เกษตรกรจึงต้องฉีดยาฆ่าแมลง บางคนเห็นแมลงอะไรก็ฉีดแล้ว แต่จริงๆ แล้ว มันมีทั้งแมลงตำรวจแล้วก็แมลงผู้ร้าย เกษตรกรก็ฉีดหมดกันไว้ก่อน ในที่สุดผลร้ายก็ตามมา เขาก็เลยโทษกันว่าสารเคมีมาจากปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตราย อันที่จริงแล้วมาจากยาฆ่าแมลงเหล่านี้นี่เอง”

แต่การใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด”นี้ มีเงื่อนไขสิ่งหนึ่งคือ เกษตรกรต้องไม่เผาฟาง ศ.ดร.ทัศนีย์บอกว่า หากเผาฝางทิ้งก็เท่ากับการเผาเงินทิ้งเช่นกัน เพราะฟางข้าวเหล่านั้นก็คือปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีที่ไม่ต้องซื้อหา ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้โปร่งขึ้น ลดปัญหาดินแน่นทึบได้ดีและเพิ่มธาตุโพแทสเซียม

“ตอนนี้ปุ๋ยแพง เกษตรกรจะมาโยนเล่นไม่ได้ แต่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นไม่ว่าปุ๋ยจะแพงอย่างไรถ้าเราจัดการได้ดีและมีประสิทธิภาพอย่างไรก็คุ้ม ส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ราคาตันละ 7000 -12000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหารเท่ากับ 175-300 บาท ) เกษตรกรอาจจะมองเห็นว่ามันถูกเมื่อเทียบราคาต่อตันกับปุ๋ยยูเรียซึ่งมีราคาสูงถึง ตันละ 28,000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหารเท่ากับ 61 บาท ) เนื่องจาก ปยุ๋ อินทรียม์ ีธาตุอาหารตา่ํ กวา่ ปุ๋ยเคมีมาก จงึ มีราคาต่อหน่วยธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยเคมี หากนำมาใช้ตามความต้องการของพืชเท่ากับว่าเกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งหมายถึงรายจ่ายที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างการใช้ปุ๋ยยูเรียกับปุ๋ยอินทรีย์ พบว่าต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า คิดเป็นสัดส่วน 17 ต่อ 400 ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีไม่ได้ แต่ต้องใช้ด้วยกัน เพราะหน้าที่ปุ๋ยอินทรีย์ก็คือปรับปรุงสภาพกายภาพ แต่บังเอิญว่าในปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีธาตุอาหารอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ปุ๋ยเคมีนั้นมีหน้าที่ให้ธาตุอาหารโดยตรง จึงเป็นคำตอบที่ว่าเราไม่สามารถเอาของที่ไม่เหมือนกันมาเทียบมาแทนกันได้ แต่สามารถใช้ร่วมกันได้”

ศ.ดร.ทัศนีย์ ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจกับกระแสการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายที่เริ่มผิดเพี้ยนไป เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกต้องคือเป็นการนำเอาวัตถุทางธรรมชาติ เช่นเศษพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ต่างๆที่มีอยู่มาไถกลบลงไปในดิน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการแปรรูปให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และพยายามปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชหลักที่ปลูกอยู่ แต่สิ่งที่หนักใจยิ่งกว่าก็คือ ยังมีเกษตรกรค่อนประเทศที่มองข้ามความสำคัญของดินที่เหยียบย่ำ ใช้ประโยชน์จากมันอย่างละเลย

“ตอนนี้ดินประเทศไทยเสื่อมโทรมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อีสาน เมื่อไปวิเคราะห์ดินแล้วอยู่ในระดับต่ำเกือบทั้งหมดไม่มีธาตุอาหารใด ๆ เหมือนทราย ภาคกลางเองก็เยอะ ทางเหนือก็เสื่อม ขณะที่เกษตรกรก็ไม่รู้ประชากรก็เกิดทุกวัน แต่เราไม่สามารถไปบุกป่าสร้างพื้นที่ใหม่ได้อีกแล้ว เราต้องใช้พื้นที่เดิม แต่ถ้าเราไม่ดูแลเรื่องดินเสื่อมโทรม ผลผลิตก็จะค่อย ๆ ลดลงจนถึงจุดที่แย่ถึงที่สุด แล้ววันนั้นกว่าเราจะสามารถฟื้นฟูได้ต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปี เกษตรกรไม่เพียงใช้ปุ๋ยเป็นอย่างเดียว แต่ต้องใส่ใจกับดินหมั่นตรวจดิน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันให้ความรู้กับเกษตรกร”

ความพยายามในการถ่ายทอดความรู้เรื่องดินและการใช้ปุ๋ยของ ดร.ทัศนีย์และทีมงาน เนิ่นนานมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่การนำไปใช้จริงของเกษตรกรมีเพียง 10% เท่านั้น หลายคนบอกกับดร.ทัศนีย์ว่าเหมือนการหยดน้ำทีละหยดในมหาสมุทร แต่เธอบอกว่าไม่เป็นไร สักวันคงจะได้สักกระป๋องหนึ่ง การมีพันธมิตรมีผู้สนับสนุนร่วมเผยแพร่หรือต่อยอดงานวิจัยที่มากขึ้นทำให้ภาพความหวังให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้เริ่มชัดเจนขึ้น

“อาจารย์ไม่ได้คาดหวังว่าเกษตรกรทุกคนทั่วประเทศจะต้องวิเคราะห์ดินเก่งหรือให้คำแนะนำ”ปุ๋ยสั่งตัด” เก่ง แต่สิ่งที่เราหวังก็คือแกนนำชุมชนที่สามารถเรียนรู้วิธีการนี้ไปใช้หรือเผยแพร่ในชุมชน สอนกันเองในชุมชน เกษตรกรเก่ง ๆ บ้านเรามีเยอะเลย เพียงแต่ว่าเราจะขยายผลอย่างไรให้เกษตรกรมีความรู้ จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ ทุกวันนี้ให้อาจารย์ไปสอนไปบรรยายที่ไหน รวมกลุ่มกันมาอาจารย์ก็ไปหมด สักวันก็คงได้รับผลสำเร็จ ...ก็คงจะทำไปจนกว่าอาจารย์จะตาย” คำทิ้งท้ายจากศ.ดร.ทัศนีย์

ล้อมกรอบ

ศึกษาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมได้ที่ www.ssnm.agr.ku.ac.th (หรือ www.ssnm.info ในปัจจุบัน) หรือสอบถามข้อมูล “ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดิน” ได้ที่ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์(02)942-8104-5 แฟกซ์ (02) 942-8106 หรือติดต่อกับศ.ดร.ทัศนีย์ ทางอีเมลได้ที่ tasnee_attanan@yahoo.com

นสพ. ข่าวสด เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 กันยายน 2551