การใช้ปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว

"การใช้ปุ๋ยสั่งตัด เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว" เป็นอีกหนึ่งหัวข้อการบรรยายในการเสวนาเชิงวิชาการเกษตรและประสบการณ์ ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง" ซึ่งนิตยสารเทคโนโลยีบ้าน จัดขึ้น ณ ห้องประชุมพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนไบโอเทค จำกัด เป็นวิทยากร

ดร.ประทีป กล่าวว่า ในเรื่องของการเกษตรนั้นต้องมองที่เป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งระยะสั้นนั้นหมายความว่า จะทำอย่างไร ให้พี่น้องชาวเกษตรกรทำแล้วมีกำไร เพราะเราอยู่ในยุคทำมาค้าขาย เราพ้นยุคหาอยู่หากิน เพราะฉะนั้นต้องชัดเจนว่าเป้าหมายของการทำการเกษตรได้เปลี่ยนไปแล้วในระยะสั้นต้องทำกำไร

"แล้วระยะยาวจะอยู่ตรงไหน ระยะยาว ดิน น้ำ ต้องดีใช่ไหม ดิน น้ำดี ต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่ต้องใส่อะไรมากเลย ระยะยาวชีวิตต้องดี ชุมชนต้องเข้มแข็ง แก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ คราวนี้มาดูเรื่องกำไรซึ่งผมแบ่งกำไรออกเป็น 2 กองใหญ่ๆ กองแรกคือ ผลผลิตอะไรที่จะนำไปขาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพมากๆ ซึ่งการทำกำไรสามารถทำได้หลายทาง อาทิ ขยายเนื้อที่การผลิตก็สามารถทำกำไรได้ ลดต้นทุนการผลิตก็ทำกำไรได้ แต่เกษตรกรต้องชัดเจนนะว่า เราไม่มีอำนาจการต่อรองเรื่องราคา จะเห็นว่าข้าวโพดที่ตามตัวเลขประเทศไทยยังผลิตได้น้อยกว่าใช้เสียอีก แต่ทำไม ราคาจึงได้ต่ำ พอแทรกแซงราคาข้าวโพดจากต่างประเทศก็เข้ามา"

ดร.ประทีป กล่าวอีกว่า สำหรับสินค้าเกษตรที่นำไปขายและเกี่ยวข้องกับคุณภาพน้อยให้ดู 2 เรื่อง คือลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตกับการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่หรือต่อไร่ ส่วนในกรณีที่ราคาสินค้าไปเกี่ยวข้องกับคุณภาพ ให้ไปดู 2 เรื่อง เหมือนกันคือ ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตกับคุณภาพของผลผลิต เช่นวันนี้ประเทศเราผลิตลำไยได้ 400,000 ตัน โดยในจำนวนนี้ใช้เพื่อการบริโภคเพียง 40,000 ตัน อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องส่งออก เพราะฉะนั้นต้องไปทำขนาดจัมโบ้ ที่วันนี้ทำได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องเพิ่มให้ได้เป็น 25 เปอร์เซ็นต์

"ผมคิดว่า ถ้าตั้งเป้าอย่างชัดเจนก็จะไปได้ เพราะฉะนั้นมาดูว่าการที่เรามองช้าง เราต้องมองทั้งตัว ไม่ใช่มองเพียงแค่ด้านเดียว เราจึงมาดูว่าจะให้พืชที่เราปลูกเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูง ระบบการเกษตรไม่ใช่ป่าธรรมชาติ เพราะป่าธรรมชาติเป็นระบบปิด พืชดูดอะไรขึ้นมา กิ่ง ก้าน ใบ ลูก ดอก ตกลงมาก็ดูดไปอีก ถ้าผมเรียกป่าธรรมชาติเป็นระบบเกษตร ผมจะเรียกว่าระบบเกษตรแบบยถากรรม"

ดร.ประทีป กล่าวต่อไปว่า เคยมีคนมากมายบอกว่า ป่าไม่ต้องใส่อะไรเลย ก็ตอนที่ท่านไปเจอแบบนั้น เพราะส่วนที่อยู่ไม่ได้ตายไปหมดแล้ว และมีตัวเลขหรือไม่ว่า ปีนี้โตเท่าไร ปีนั้นโตเท่าไร แล้วมาพูดตามความรู้สึกมันจึงเป็นปัญหา แต่ระบบการเกษตรเป็นระบบเปิด ต้องเอาบางสิ่งบางอย่าง เช่น เอาหัวกับมันสำปะหลัง เอาเมล็ดกับข้าว เอาดอกก็ไม้ดอก เอามะม่วงก็ผลต้องออกไป ถามว่า ข้าวเปลือกนั้นเปลือกมันหุ้มลมไว้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าระบบการเกษตรต้องการความรู้ ความสามารถในการจัดการให้ลงตัวพอดีและพอดีในเรื่องอะไรบ้าง เราจะปลูกอะไรต้องรู้ก่อนว่า ดิน 200 กว่าชนิด ที่มีในประเทศไทย และมีชื่อมันปลูกกับสิ่งที่เราต้องการปลูกได้ไหม จริงๆ ก็ได้ ถึงแม้ไม่เหมาะก็สามารถปลูกได้ แต่มันจะคุ้มค่ากับการลงทุน มันเสี่ยง

ดังนั้น ขั้นแรกต้องเลือกก่อนว่า จะปลูกอะไร แล้วเลือกพันธุ์ ไม่มีพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก ข้าวโพดที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาก็นำมาปลูกที่ขอนแก่นไม่ได้ แต่อย่าไปเชื่อครับ วันนี้เกษตรกรไม่เข้าใจ พอมันสำปะหลังราคาดี อันนั้นก็พันธุ์มหัศจรรย์ก็แห่กันไปซื้อ วันนี้ทางหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ทำแผนที่ออกมาแล้วเป็นรูปขนมชั้น ชั้นแรกก็เป็นแผนที่ดิน เป็นดิน 100 กว่าชนิด ที่ปลูกมันสำปะหลังวางลงไป เอาแผนที่ฝน แผนที่อุณหภูมิ แผนที่พันธุ์ต่างๆ มองลงไปจากด้านบน จะเห็นได้เลยว่า พื้นที่ตรงนี้เหมาะสำหรับพันธุ์ที่ดีที่สุดได้จัดทำออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตกลงจะจัดการดิน น้ำ ลม ไฟ ให้มันเหมาะสมอย่างไร และจะไปถามใครได้ ปลูกมันสำปะหลังที่อีสานแล้วไปถามที่ระยองได้หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเว็บไซด์เกี่ยวกับเรื่องของดินขึ้นมา กรณีที่คุณตกงานแล้วกลับมาบ้านที่จังหวัดขอนแก่น สามารถเปิดเว็บไซด์ดูได้เลยว่า ดินในพื้นที่ของคุณเป็นกลุ่มดินชนิดใด สามารถใช้ปลูกพืชอะไรได้บ้าง แต่อยากทราบข้อมูลที่ละเอียดขึ้นเกี่ยวกับพืชที่มีการส่งเสริมให้ปลูก ก็ให้คลิกลงไปอีกทีหนึ่ง ข้อมูลก็จะขึ้นมา ซึ่งอันนี้ในทุกจังหวัดจะมีเหมือนกันหมด

"ในปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีนโยบายสั่งลงมาแล้ว หากเปิดเว็บไซด์ที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะพบว่า เขาเน้นไปที่ข้าว หน่อไม้ฝรั่ง และมะม่วงส่งออก อย่างกรณีตัวผมเป็นคนสุพรรณบุรี หากตกงานผมก็กลับไปบ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรี ผมก็เปิดเว็บไซด์จะเจอ ดินชื่อกำแพงแสน แล้วผมเลือกหน่อไม้ฝรั่ง พอผมกดอีกครั้งจะขึ้นข้อมูลเลยว่า จากจุดที่ผมยืนอยู่ ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร ที่ผมสามารถขี่มอเตอร์ไซค์ไปได้ ลุงมี ลุงมา หรือลุงแม้น ที่เขาเก่งในเรื่องหน่อไม้ฝรั่งเขาอยู่ตรงไหนบ้าง ง่ายไหมครับ และนี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็น ซึ่งก็สามารถทำได้ใน 1 เดือน เสร็จทั้งประเทศ" ดร.ประทีป กล่าว

สำหรับในเรื่องของปุ๋ยสั่งตัด ดร.ประทีป กล่าวว่า สำหรับในพืชที่ปลูกนั้น จะต้องการธาตุอาหารที่จำเป็นทั้งสิ้น 17 ชนิด แต่ถามว่า วันนี้เกษตรกรรู้บ้างหรือไม่ อย่างมันสำปะหลัง ที่ผมบอกผลผลิตเฉลี่ยไม่ถึง 4 ตัน ต่อไร่ เราปลูก 1,600 ต้น ต่อไร่ หนึ่งต้นให้ผลผลิตไม่ถึง 3 กิโลกรัม แต่เกษตรกรคนสุดยอดของเราสามารถปลูกได้ 120 กิโลกรัม ต่อต้น แล้วท่านจะว่าอย่างไร? ท่านไปหาพันธุ์มหัศจรรย์มาหรือครับ ทำไม ไม่หาความรู้จากเกษตรกรเหล่านี้ว่าเขาทำกันอย่างไร

ท่านทราบหรือไม่ว่า ครูที่ดีที่สุดของชาวไร่มันสำปะหลังคือใคร ก็คือต้นมันสำปะหลัง ครูที่ดีที่สุดของชาวนาคือ ต้นข้าว ไม่มีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญคนไหน จะมีปริญญาเอกกี่ใบ เชี่ยวชาญเรื่องข้าวไม่มีหรอกครับ โม้ทั้งนั้น มีแต่เชี่ยวชาญเรื่องพันธุ์ข้าว เชี่ยวชาญเรื่องการใช้น้ำในนาข้าว เชี่ยวชาญเรื่องดินนา และนี่คือปัญหาของประเทศไทย แต่คนที่เก่งที่สุดที่ผมเชื่อถือ คือเกษตรกร แต่ต้องเป็นคนเก่งนะ ซึ่งพบว่าในเกษตรกรจำนวน 100 คน ในแต่ละชุมชนมีเกษตรกรที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ไม่ถึง 5 คน ที่เหลือคือคนที่ทำการเกษตร

"ถ้าผมเริ่มปลูกข้าว ผมจะดูคนข้างๆ ว่าเขาใส่ปุ๋ยเท่าไร ผมจะใส่ให้มากกว่า ดินก็มีความแตกต่าง ฝนตกลงมาเท่ากัน แต่ดินอุ้มน้ำไม่เท่ากัน ก็ส่งผลให้พืชได้รับน้ำไม่เท่ากัน จะเห็นว่ามีเรื่องเยอะแยะที่ซับซ้อนมาก คราวนี้มาดูเรื่องดินดีหรือดินเลว ซึ่งก็ต้องดู 3 เรื่อง คือ"

1. ดูความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าความเป็นกรด-ด่าง ไม่เหมาะสมแล้ว ธาตุอาหารมีเยอะแยะพืชจะใช้ไม่ได้ หรือใส่ปุ๋ยสัก 10 กระสอบ ต่อไร่ พืชก็ดูดไม่ได้

2. เสร็จแล้วมาดูเรื่องความโปร่งร่วนซุยของดิน ถามว่าดินที่โปร่งกับดินที่แน่นปลูกพืชลงไปแล้วรากของพืชชนิดไหนไปได้ไกลกว่ากัน ถ้ารากพืชที่ไปได้ไกลกับไปได้ใกล้อย่างไหนจะดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดีกว่ากัน แล้วในธรรมชาติเองสัดส่วนระหว่างข้างบนกับข้างล่างจะสมดุล กล่าวคือ ถ้ารากไปได้น้อย ก็โตน้อย ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ

3. ต้องดูว่าที่พืชกินอาหารเข้าไป 17 ชนิด ตอนนี้ในดินพอหรือไม่ พืชแต่ละชนิดต้องการกินอาหารที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นมันสำปะหลังจะกินอาหารต่างๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างจากข้าวหรือข้าวโพด

"ซึ่งเราก็ต้องรู้ว่า ดินเรารวยหรือจน อย่างน้อยต้องดู 3 เรื่อง ธาตุอาหาร 17 ชนิด ผมยกมาเพียง 3 ชนิด แต่ละตัวมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ผมในฐานะที่เรียนทางด้านปฐพีวิทยามา ทั้งเรื่องดินและปุ๋ยมาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เวลาไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสาตร์ที่ภาคปฐพีวิทยาทีไร ก็ได้พูดกับอาจารย์ทุกครั้งว่า เราสร้างคนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกไปนับแสนคนแล้ว เกษตรกรยังยากจนหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ดินหลุดมือ ผมว่าจำเป็นนะที่จะต้องปลุก เพื่อใช้วิกฤติการตกงานในครั้งนี้พลิกฟื้นชนบทไทยให้ได้ มีความจำเป็น ท่านไปซื้อยาแก้โรคแมลงมาฉีดมาพ่นกันบอกว่ามันขาดสารอาหาร"

จากการบรรยายของอธิบดีกรมการข้าว บอกว่า เกษตรกรภาคกลางรวยกว่าทางภาคอีสาน ซื้อปุ๋ยใส่ลงไปเลย 3 เท่าตัว อันนี้เป็นข้อมูลเฉลี่ยในภาคกลางที่วันนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในภาคกลางใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกิน 3 เท่าตัว จากข้อมูลสำรวจของเรา แล้วเกิดอะไรท่านทราบไหม ก็จะเกิดโรคใบไหม้รุนแรง ใช้มากเกินไปแล้วเกิดอะไรทราบหรือไม่ เห็นใบเขียวดี แมลงระบาดก็เลยฉีดยาตามฉลากขวด แล้วใครรวยครับ

ดร.ประทีป กล่าวว่า แทนที่จะสอนเกษตรกรว่า ถ้าเดิน 10 ก้าว ไปเจอแมลงไม่เกิน 5 ตัว ไม่ต้องฉีด ก็ใช้ปุ๋ยตามฉลากที่ติดไว้ข้างถุงไม่ผิดนะที่เขาทำมาขาย เพราะเขาต้องเขียนกลางๆ อย่างนั้น แต่กำลังจะบอกว่าเราอยู่ในยุคที่ต้นทุนแข่งกับใครไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจากประเทศเพื่อนบ้านจะทะลักเข้ามา ในขณะที่เขาขนมา หรือดูอย่างกรณีแอ๊ปเปิ้ลขนมาจากประเทศจีนยังถูกกว่าฝรั่งที่เมืองไทย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้านักวิชาการหรือหน่วยงานราชการไม่ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว ผมว่าเกษตรกรคงจะไม่ดีแน่ ที่ผมคิดว่าใช้วิกฤติตกงานพลิกฟื้นชนบทมันคงเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือกัน

ถ้าธาตุอาหารไม่สมดุลจะเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลทำลายราก ผมอยากจะให้มองอะไรเป็นการเชื่อมโยง ไม่ใช่แยกส่วน ตัวเลขชัดเจนนะครับว่าต้นทุนการผลิต 1 ใน 4 คือปุ๋ยเคมี และใน 7-8 ปี ที่ผ่านมา เรานำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าแล้วผลิตผลเพิ่มขึ้นสักกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้จะไปรอดไหมครับ? ก็แสดงว่าปุ๋ยเคมีต่างๆ ที่ได้ใช้ไปมันมีการรั่วไหลไปมากมาย ทั้งนี้ เพราะเกษตรกรใช้ไม่ถูก

เพราะฉะนั้นเมื่อวิเคราะห์เจาะลึกตรงจุดนี้โดยความร่วมมือของทีมงานที่ประกอบด้วยทางกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงมูลนิธิพลังนิเวศน์และชุมชน โดยการสนับสนุนของ สกว. โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ ปี 2540 ซึ่งเราพยายามที่จะทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาการและต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

"ผมอยากให้นึกภาพที่ผ่านมา เวลาเราไปเดินตามห้างหรือดีพาร์ตเม้นต์สโตร์ เราไปซื้อเสื้อมา แต่ว่าแผงขายเสื้อตรงนั้นมีเสื้ออยู่เพียงขนาดเดียว ซึ่งคนตัวเล็ก อ้วน ผอม ใส่ได้หมด ก็เหมือนกับการแนะนำปุ๋ยที่เราแนะนำกันมาตลอด ดินมีตั้งหลายอย่าง พันธุ์พืชแต่ละชนิดก็กินปุ๋ยไม่เท่ากัน อันนี้เราเรียกว่า "ปุ๋ยเสื้อโหล" ต่อมาดีขึ้นหน่อย เริ่มทำเสื้อเป็นขนาดต่างๆ บ้างแล้ว ทางราชการก็ไปตั้งห้องแล็บวิเคราะห์ดิน เช่น สวพ. หรือกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น ซึ่งก็ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เสื้อก็เริ่มมีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่"

"แต่ลืมไปว่า ดินที่มีเป็น 100 กว่าชนิดมันแตกต่างกัน มันลึก ตื้น แตกต่างกัน เป็นทรายเหนียวต่างกัน พอใส่เข้าไปคือจะให้ธาตุอาหารที่ต่างกัน รวมทั้งยังอยู่ในภูมิอากาศที่แตกต่างกัน แล้วพอเอาดินมาวิเคราะห์ได้ค่าปริมาณธาตุอาหารที่เหลือ ซึ่งจะต้องดูให้หลายด้าน เฉพาะเรื่องดิน เราไม่รู้หรอกว่าดินที่นำมาวิเคราะห์มีโพแทสเซียมเท่านี้ ไนโตรเจนเท่านี้ หรือฟอสฟอรัสเท่านี้ จะอยู่ลึกหรือตื้นกันแน่ไม่รู้หรอกครับ ไม่ได้ใช้ข้อมูลพวกนี้เลย ใช้แต่ข้อมูลธาตุอาหารเท่านั้น ก็ดีกว่าปุ๋ยเสื้อโหลหน่อย ปุ๋ยเสื้อโหลก็ดีกว่าไม่มีเสื้อใส่"

ดร.ประทีป กล่าวต่อไปว่า แต่ปุ๋ยสั่งตัดไม่ใช่ ทำเป็นขนมชั้นเลยนะ เอาดินมาวาง ดินมี 100 กว่าชนิด เอาพันธุ์มาวาง พันธุ์ไวแสง ไม่ไวแสง เอาอากาศมาวาง เอาความชื้นมาวาง เอาฝนมาวาง ถ้าเป็นข้าวระบบชลประทานก็ไม่ต้องใช้ แต่ข้าวโพดต้องเอาฝนมาวางแล้วมองไปข้างบน แล้วบอกว่าถ้าพืชพันธุ์นี้อยู่ในดินแบบไหน แสงเท่านี้จะต้องใช้ปุ๋ยตัวนี้ ใช้เท่านั้น เราก็ลองมาปลูกข้าวโพดในคอมพิวเตอร์ดู แล้วก็เอาไปทดลอง แล้วไปปรับใช้จริง ซึ่งเป็นงานวิจัยพืช 2 ชนิดนี้มา 10 กว่าปี ใช้เงินภาษีของท่านไป 20 กว่าล้านบาท ของสำนักกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ซึ่งอยากจะเห็นอีกหลายพืช อยากจะทำให้เห็นว่าก็สามารถทำได้ ดังนั้น จะเห็นภาพว่าการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่เป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่

"อย่างเรากรีดยางออกไปให้น้ำยางออกไป ปริมาณน้ำยาง 1 ตัน ที่กรีดยางออกไปจะต้องดูดไนโตรเจน 20 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 5 กิโลกรัม โพแทสเซียม 25 กิโลกรัม ตอนนี้ถ้ารู้ว่าดินขาดอะไร เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีเป็นคนละเรื่องกันนะ คนละประเด็นกัน ปุ๋ยอินทรีย์เองถ้าต้องการใช้โพแทสเซียมมากๆ ท่านก็ไปเอาปุ๋ยอินทรีย์ที่มีส่วนผสมของแกลบดำมากๆ แต่ถ้าท่านต้องการฟอสฟอรัสก็ให้ไปใช้มูลค้างคาว เพราะฉะนั้นการตรวจดินไม่ได้หมายความว่าให้เปลี่ยนจากเกษตรอินทรีย์เป็นเกษตรเคมี หรือเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ต้องการให้ท่านรู้จักสภาพ"

ส่วนในเรื่องของข้าว ดร.ประทีป บอกว่า ต้องมองข้าวทั้งระบบ จะรู้ว่าข้าว 1 ตัน ที่เอาออกไป ข้าวเปลือก 1 ตัน ในภาคกลาง ต้องดูดอะไรบ้าง เมื่อเกี่ยวไปแล้วและที่เหลืออยู่ในนาประมาณ 1,300 กิโลกรัม เกษตรกรจะเผา ไม่รู้หรอกว่าโพแทสเซียมเกือบทั้งหมดที่ดูดขึ้นไปนั้นอยู่ที่ที่เหลือตรงนั้น ได้ออกไปแต่ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส 1 ใน 3 อยู่ที่นี่ เกษตรกรก็เผา ถ้าวันนี้ปุ๋ยมีราคาสูงเกษตรกรกำลังเผาเงินในภาคกลาง จำนวน 1 ไร่ จะอยู่ประมาณ 1,000-1,500 บาท หายไปเลย แล้วก็มาบ่นกันว่าต้องใส่ปุ๋ยเยอะ อันนี้คือปัญหา

"เพราะฉะนั้น 3 ขั้นตอน ที่เราแนะนำก็คือว่า เราต้องรู้ชื่อดินเสียก่อนว่า ดินอะไร ต้องรู้ว่าธาตุอาหารวันนี้เหลือเท่าไร และให้ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ เราทำเป็นคู่มือสำรวจดินออกมา ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมของโลก ซึ่งตอนนั้นมีการโต้แย้งว่าชาวบ้านทำไม่ได้หรอก แต่ชาวบ้านต้องรู้ดินทั้งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้ จะรู้แค่ในหมู่บ้านของตัวเอง 3-4 ชนิดหลักๆ ก็พอ แต่วันนี้เรามีแผนที่ดินฉบับแรก แผนที่ดินสำหรับทุกจังหวัด ตั้งแต่ ปี 2519 แต่วันนี้ยิ่งง่ายกว่านั้น เพราะว่าเราได้ลงในเว็บไซด์ได้หมดแล้ว ท่านจะรู้ว่าดินอะไร ชื่อดินอะไร คุณสมบัติก็เปลี่ยนแปลงยาก ก็คือว่าเนื้อดินเปลี่ยนแปลงยาก ความลึก ตื้น เปลี่ยนแปลงยาก สีของดินเปลี่ยนแปลงยาก ความเป็นกรด-ด่าง ชั้นล่างเปลี่ยนแปลงยาก แล้วนำมาตั้งชื่อ เมื่อเจอครั้งแรก 12,500 ไร่ เมื่อไรให้ตั้งชื่อ ดินโคราช แน่นอนต้องเจอที่โคราช แต่ที่ขอนแก่น มีโคราชเพียบเลย รู้ทีเดียวรู้ให้ถึงลูกหลานเลย

ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงได้พัฒนาชุดตรวจสอบดินแบบง่ายๆ ขึ้นมา โดยเสียค่าน้ำยาเพียง 50 บาท เด็กเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็สามารถวัดได้ แต่การเก็บตัวอย่างดินนั้นเกษตรกรต้องเก็บเอง ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่เห็นคุณค่า พอเห็นภาพว่าเรากำลังทำให้เกิดการนำไปสู่การพึ่งตนเอง วันนี้นักวิจัยหรือนักพัฒนาทุกคนต้องพยายามคิดเครื่องไม้เครื่องมือให้เกษตรกรไปทำงานให้เร็วขึ้น ประณีตขึ้นและทันเวลาได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่จะคอยพึ่งพานักวิจัยอีกต่อไปเท่านั้น นั่นคือ เป้าหมายของการพัฒนา

เรามีคู่มือทำง่ายๆ เกษตรกรสามารถเปิดอ่านดูได้ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นอีกอย่างคือ ความโปร่งร่วนซุย บางที่มีโรงสีชุมชนใส่แกลบไปแล้วก็ต้องใส่อีกแล้วมันเน่า เราได้พัฒนาโดยใช้ภูมิปัญญาคนญี่ปุ่น เมื่อ 400 ปีที่แล้ว เผาแกลบในอุณหภูมิต่ำด้วยถัง 200 ลิตร เพราะอุณหภูมิต่ำคาร์บอนไม่หายก็ไม่ทำให้โลกร้อน ซึ่งไม่เหมือนกับโรงสี เผาเสร็จแล้วเป็นรูปแกลบ ท่านใส่ครั้งเดียวในชีวิตได้ถึงลูกถึงหลาน เพราะจากข้อมูลการวิจัยอยู่ได้หลายร้อยปี ประมาณ 300 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นที่เราไปทดลองที่สระบุรี 1 ตารางเมตร อย่านำไปใส่ในนานะ ให้ไปใส่ของแพงๆ พวกพืชผัก ไม้ดอก ท่านปรับปรุงฟาร์มให้ร่วนซุยครั้งเดียวตลอดการปลูกไปเลยชั่วลูกชั่วหลาน

อย่างกรณีที่ทดลองที่สระบุรี เป็นดินเหนียว จำนวน 1 ตารางเมตร ใช้ปริมาณ 4 กิโลกรัม ให้นึกภาพว่าวันนี้เรามีแกลบอยู่จำนวน 5 ล้านตัน ในประเทศ เพียงนำมาสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ปีละประมาณ 500,000 ตัน นำมาทำอย่างนี้ ผมว่าไม่เกิน 10 ปี ดินในชุมชนเกษตรจะดีขึ้นทั้งหมด เพราะไม่ต้องไปใส่ที่เดิมอีก ดังนั้น เมื่อเรารู้ชื่อดินแล้ว ก็จะทราบว่าผลผลิตควรจะได้สักเท่าไร ดินตากฟ้า ที่นครสวรรค์ กับดินตากฟ้า ที่ตาก ถ้าวิเคราะห์ NPK เท่ากัน ปลูกข้าวโพดแนะนำปุ๋ยไม่เท่ากัน ซึ่งอันนี้คือ สั่งตัด

จะเห็นว่า ดินอยุธยาปลูกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ข้าว 900 กว่ากิโลกรัม วัดค่า N ได้ต่ำมาก ถ้าใส่ 8 ดินจะต่ำมาก วัด P ได้ต่ำ ใส่ 4 วัด K ได้ปานกลาง ใส่ 2 ซึ่งก็คือ 8-4-2 ซึ่งจะใช้ปุ๋ย 16-20-0 จำนวน 20 กิโลกรัม 46-0-0 จำนวน 2 กิโลกรัม และ 0-0-60 จำนวน 4 กิโลกรัม สำหรับในครั้งแรก พอครั้งที่ 2 ให้นับถอยหลังมา 60 วัน ใส่ตอนตั้งท้อง 46-0-0 จำนวน 9 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นจะใช้ปุ๋ยทั้งหมดเท่าไรครับ คือ 26+9 = 35 กิโลกรัม และถ้าเราปรับปรุงดินของเราให้ดีขึ้น เราก็จะใช้ปุ๋ยในปริมาณที่น้อยลง แต่ในวันนี้ภาคกลางโดยเฉลี่ย ประมาณ 1-1.5 กระสอบ ต่อไร่ ประมาณ 50-70 กิโลกรัม คราวนี้มาดูว่าถ้าดินอยุธยาต่ำมาก ใส่ 8 แต่ดินมโนรมย์ วัดได้ต่ำมาก ให้ใส่ 10 เห็นหรือไม่ว่าถ้าต่ำมาก ต้องใส่ 10 อันนี้คือ สั่งตัด

จากผลการวิจัยจะเห็นว่าเป็นเกษตรกรผู้นำที่เก่งๆ ทั้งนั้น ซึ่งเราได้คัดเลือกมาเป็นนักวิจัยของเราเป็นการสร้างเกษตรกรผู้นำให้เป็นนักวิจัยให้ใช้ท้องนาเป็นห้องทดลอง จะเห็นว่าสามารถลดปุ๋ยได้มากถึง 50% บางรายลดได้ถึง 62% คุณสมมาตร สิงห์ทอง ปลูกข้าวในดินชุดเสนา สามารถลดปุ๋ยได้ถึง 62% เคยใช้ 72 กิโลกรัม ต่อไร่ ตอนนี้เหลือ 27 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยรวมเราพบว่าลดปุ๋ยไนโตรเจนได้ถึง 65% ฟอสฟอรัส 43% ชาวบ้านไม่รู้ว่าโพแทสเซียมมีหน้าที่ทำให้เมล็ดข้าวเต็ม ที่เมล็ดข้าวลีบ เพราะขาดโพแทสเซียม

"สมัยผมเด็กๆ ตอนที่อยู่สุพรรณบุรี เอามือลงไปจับกุ้งเลย แต่วันนี้ไปคุยกับชาวบ้านเขาบอกว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว มือจะคันหมดเลย เพราะยาสารเคมีต่างๆ มันไหลลงไปในน้ำ มันไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ของเดิมปีหนึ่งเอาออกครั้งเดียวปลูกปีละครั้ง เดี๋ยวนี้ 5 ครั้ง 2 ปี ปีหนึ่งเอาข้าวเปลือกออกไปแล้ว 2,000 กิโลกรัม เราทำข้าวโพดเสร็จก่อน จะเห็นว่าข้าวโพดสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 53% ต้นทุนลดไป 31% ปี 2547 ต้นทุนลด 42% ผลผลิตเพิ่ม 58% ที่น่าสนใจคือช่วงฝนแล้งเสียหายกันมาก ต้องขายไร่กัน เมื่อปี 2548 ปรากฏว่าฟอสฟอรัสที่เร่งรากได้ดีถึงแม้ว่าในดินมีน้ำอยู่น้อย แต่มันไปได้ไกลกว่าแห้งชัดมากเลย ช่วงฝนแล้งผลผลิตเพิ่มถึง 78% เมื่อเปรียบเทียบกันเราให้ทดลองแบ่งคนละครึ่งแปลงเลย นี่เป็นการสรุปหลักๆ ให้ท่านเห็น" ดร.ประทีป กล่าวในที่สุด

วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 453