เกษียณสองรอบ

อายุเป็นเพียงตัวเลข (สมมติ) หากบอกว่าวัยเท่าโน้น เท่านี้ แต่ใจยังสั่งมา สั่งให้ทำตัวสดชื่น หน้าตาก็จะสดใส ไม่มีใครทายถูกว่าวัยเป็นเท่าใดกัน เพราะล้วนเข้าวัย ยัง "ยังแอทฮาร์ด" กันทั้งนั้นศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ เล่าว่า ตัวเองนั้นเกษียณวัยมาแล้ว 2 รอบ แต่ก็ยังไม่หยุด แล้วทำไมมีได้สองรอบ ปกติคนวัย 60 ก็นับแค่ครั้งเดียว ประเดี๋ยวค่อยตามมาฟังละกันนะ

 

แหล่งข่าวคนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่กระฉับ กระเฉง คล่องตัว ลงมือทำทุกอย่างได้เอง ขับรถเอง ทำอาหารเอง เดินทางเอง และอื่นๆ อีกมากมาย

มีเรื่องเล่าที่เจ้าตัวภูมิใจนำเสนอมั่ก มาก ยิ่งตอนนี้หลังน้ำท่วม ผู้คนหันมาสนใจเรื่องข้อมูลงานวิจัยกันมากขึ้น เป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่รู้จักนำงานวิจัยมาใช้ เมื่อเกิดน้ำท่วมไปทั่ว เสียหายหลายแสนล้าน ป่านนี้จะลืมกันไปแล้วหรือยังนะนี่....

งานวิจัยของท่านเป็นงานที่เหมาะกับเกษตร พื้นที่เมืองไทยเหมาะมากที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งปลูกพืชผัก ผลไม้ กินเองหรือส่งออกก็ดีทั้งนั้น เมื่อนำหลักการผลิต การตลาดเข้ามาแพ็กรวมกัน ความน่าสนใจเกิดขึ้นทันใด ใช้แนวโน้มของการตลาดยุคใหม่ที่สนใจกลุ่มลูกค้าเป็นการเฉพาะเจาะจง ลงไปยังกลุ่มที่ใช่ ไม่หว่านไปเป็นตลาดแมส ได้ผลกับยอดขายทันที ประหยัดงบและวางแผนได้อย่างไม่คลาดเคลื่อนมากนัก

เมื่อนำมาใช้กับ "ดิน" จึงเป็นปรากฏ การณ์ "ปุ๋ยสั่งตัด" ใครเชฟยังไงก็สวมใส่เสื้อผ้าตามทรงนั้นจึงจะสวย ไม่หันไปคว้าเสื้อโหล ที่คับบ้าง หลวมบ้าง ดูดีกว่าเป็นไหนๆ

นั่นเลย หลักการเดียวกันของนักวิชาการท่านนี้ เมื่อได้รับทุนมา ในปี 2540-ปีที่ ฟองสบู่แตก คนจึงเริ่มรู้สึก ลงลุยงานจนเริ่มถ่ายทอดได้ในอีก 4 ปีถัดมา และเห็นผลชัดเจนเรื่องผลผลิตในปี 2546-47

อาจารย์เล่าให้เข้าใจ ฟังง่ายมากว่า ปุ๋ยสั่งตัด ก็เหมือนเสื้อสั่งตัดนั่นแหละ คนมีวัดตัว ดินก็ต้องสำรวจดินว่าค่ากรด-ด่างเป็นอย่างไร จากนั้นก็เป็นการจัดสูตรปุ๋ย ที่เติมเข้าไปว่าจะปรุงให้เหมาะกับดินอย่างไร แค่นี้เอง เห็นไหมว่าง่ายมากจริงๆ

เมื่อทำเป็นร้อยๆ ครั้ง จนนิ่ง คู่มือการสำรวจดินจึงออกมาแจกจ่ายกันไปแล้ว จากนั้นนำมาเปิดสูตรปุ๋ยที่จะเติมลงไปได้ทันที ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก น่าเสียดายโครงการนี้หลังจากรับทุนจาก สกว.มายาว นาน 10 ปีผ่านไป ทุนหมดซะแล้ว แต่..เดี๋ยวก่อน อาจารย์ยังไม่หยุดนะ ยังทำงานด้านนี้อยู่ โดยเฉพาะเดินสายคุยกับพี่น้องเกษตรกรในโครงการของมูลนิธิพระดาบส สนุกไปอีกแบบ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

ใช้ชีวิตอย่างที่อยากทำ เป็นคนชอบตามใจตัวเอง สอนหนังสือที่เกษตรศาสตร์มาตลอดชีวิต เรียนจบที่นี่ เดิน วิ่ง ทำงานอยู่ที่นี่แบบไม่เบื่อ ศึกษาธรรมะแบบจริงจัง หลังวัย 60 ความที่เป็นคนเรียนดี ทำอะไรจริงจัง เต็มที่กับทุกเรื่อง จึงรู้ซึ้งถึงคำสอน

ตื่นทุกเช้าตอนตี 5 จึงมีโปรแกรมให้ตัวเองนั่งสมาธิ สวดมนต์ ฟังซีดีธรรมะจนนับไม่ถ้วน เป็นผู้แตกฉานธรรมะคนหนึ่งของเมืองไทยไปแล้ว เพราะหวังผลให้นำไปปฏิบัติได้

ต่ออายุราชการไปแล้วเมื่อวัย 65  ยังทำงานเรื่อยมา...ตอนนี้มีการ์ตูนเรื่อง ดิน-ปุ๋ย อ่านเข้าใจง่าย กำลังคิดจะแปลเป็นภาษาโปรตุเกส ให้อ่านกันเพิ่มอีกหนึ่งภาษา

ใช้ชีวิตอิสระ กับการทำงาน การเดินทาง แต่เมื่อมีหลานตัวน้อย ขอทำหน้าที่เป็นคุณยาย คุณย่า สักหน่อยนะ เสาร์-อาทิตย์จะขอให้ลูกสาวมาหิ้วปิ่นโตอาหารไปฝากหลานๆ เป็นเมนูที่รู้ว่าดีต่อสุขภาพของคนสองวัย คือ ปลาแซลมอน

ผลไม้โปรดเป็นแอปเปิลพันธุ์จากแอฟริกาใต้ หวานกรอบ ส่วนผลไม้ไทยทานตามได้ทุกฤดูกาล (อยู่แล้ว)

เข้านอนตอนสามทุ่ม แล้วชีวิตก็วนมารอบต่อไป ไม่เบื่อเลย... ใครอยากให้ไปช่วยเรื่อง "ดิน" ก็ให้บอก "จิตอาสา" นะ ไม่เป็นแฟชั่น หวือหวา เพราะ ที่นี่ ที่เกษตร...

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ 

ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555