"ปุ๋ยสั่งตัด" นวัตกรรมการใช้ปุ๋ยข้าวไทย

 

ปี 2551 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปถ่ายทอดให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน พบว่า เกษตรกรได้กำไรเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีที่เกษตรกรถือปฏิบัติอยู่

ปี 2552 เกษตรกรผู้นำในจังหวัดสุพรรณบุรีได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปใช้ในการปลูกข้าว ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นมาก เพราะมีต้นทุนการผลิตเพียง 3,000 บาทต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตของชาวนาทั่วไปที่สูงถึง 4,000-5,000 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก

ปี 2553 เกษตรกรผู้นำในจังหวัดสระบุรีได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปขยายผลในกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกข้าว 13 ราย รวมพื้นที่ 571 ไร่ พบว่า ลดค่าปุ๋ยเคมีได้ 506 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก และผลผลิตเพิ่มขึ้น 175 กก.ต่อไร่ (ตารางที่ 2) อีกทั้งยังทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ไม่ล้ม ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก ส่งผลให้ภาพรวมใน 1 ฤดูปลูก ลดค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มากกว่า 4 แสนบาท และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ตัน การขยายผลในปี 2554 ก็ได้ผลคล้ายคลึงกัน

ทำไมเกษตรกรต้องใส่ปุ๋ย?

เมื่อเกษตรกรปลูกพืช แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายติดต่อกันหลายๆ ปี ถ้าไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ดินจะเสื่อมโทรม เพราะธาตุอาหารพืชในดินหมดไป และอินทรียวัตถุในดินลดลง ดินที่เคยโปร่งร่วนซุยจะเปลี่ยนเป็นดินที่แน่นทึบ และไม่สามารถให้ผลผลิตสูงได้อีกต่อไป

ดังนั้น จึงต้องใส่อินทรียวัตถุ เพื่อปรับปรุงความโปร่งร่วนซุยของดิน และเพิ่มเติมธาตุอาหารพืชลงไปในดิน เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปกับผลผลิต

ควรใส่ปุ๋ยชนิดใด? ปริมาณเท่าไร?

คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับพืชเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างกว้างๆ ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของชนิดดิน ปริมาณธาตุอาหารพืชในดินขณะนั้น การสูญเสียหรือการได้มาของธาตุอาหารระหว่างการปลูกพืช การใช้ปุ๋ยจึงไม่ตรงตามความต้องการของพืช ถ้าใส่ปุ๋ยมากเกินไป โรคและแมลงจะระบาดมากขึ้น แต่ถ้าใช้ปุ๋ยน้อยเกินไป พืชก็จะให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

เกษตรกรหลายรายเชื่อว่า “ถ้าใส่ปุ๋ยมาก จะได้ผลผลิตมาก” ไม่เป็นความจริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากได้ผลผลิตข้าวสูงๆ โดยเร่งใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ข้าวจะอวบ เต่งตึง เขียวจัด แมลงชอบเข้าทำลาย หากแต่การใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ทั้งถูกชนิด ถูกปริมาณ ถูกเวลา และถูกวิธี จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตลดลง เปรียบเสมือนคนกินอาหารถูกสัดส่วน สุขภาพจะสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ล้มป่วยง่าย

“ปุ๋ยสั่งตัด” คืออะไร? 

เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยถูกชนิดและถูกปริมาณ ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยจึงสูงขึ้น

คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ได้จากการนำปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ชุดดิน ปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น ฯลฯ มาพิจารณาร่วมกัน โดยใช้แบบจำลองการปลูกพืช และโปรแกรมสนับสนุนการตัดสินใจ มาคำนวณโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อคาดคะเนคำแนะนำปุ๋ย เอ็น-พี-เค ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด และมีการทดสอบในภาคสนาม เพื่อให้ได้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำ และสอดคล้องกับความต้องการของพืช

ฉะนั้น การปลูกข้าวในชุดดินที่แตกต่างกัน แม้จะมีปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดินเท่ากัน คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” จะแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ชุดดินอยุธยาและชุดดินมโนรมย์ที่มีค่าวิเคราะห์ดินเท่ากัน จะใช้ปุ๋ยไม่เท่ากัน นอกจากนี้ เกษตรกรควรสังเกตการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของข้าว เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยในพื้นที่ของตนเองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น 

คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” เหมือนกับเราใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว จึงมีความถูกต้องแม่นยำกว่าคำแนะนำ “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” หรือที่เรียกว่า “ปุ๋ยเสื้อโหลมีขนาด” เอส เอ็ม และแอล ซึ่งนำเฉพาะค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย

“ปุ๋ยสั่งตัด” ลดต้นทุนการผลิตข้าวได้จริงหรือ?

ผลการทดลองใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง ปี 2550 พบว่า ลดต้นทุนการผลิตได้ 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก (ตารางที่ 1) หรือปีละ 1,020 บาทต่อไร่ 

ประเทศไทยมีที่นาชลประทานประมาณ 15 ล้านไร่ ถ้าใช้คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี

หมายเหตุ เกษตรกรไม่ได้ใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง 5 ฤดูปลูก ยกเว้นสารกันเชื้อราเพื่อป้องกันโรคเมล็ดลาย

ปี 2554 เกษตรกรผู้นำตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ได้ทดลองใช้คำแนะนำ 

“ปุ๋ยสั่งตัด” พบว่า ค่าปุ๋ยลดลง และผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ซึ่งใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องและข้าวล้มก่อนเก็บเกี่ยว 

(ภาพที่ 1 และตารางที่ 3)

ถ้าต้องการคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ต้องทำอะไรบ้าง?

ขั้นตอนที่1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน สอบถามข้อมูลชุดดินที่สถานีพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีในทุกจังหวัด หรือจากแผนที่ชุดดินตำบลของกรมพัฒนาที่ดิน (ภาพที่ 2) หรือตรวจสอบข้อมูลชุดดินได้ที่เว็บไซด์ www.soil.doae.go.th

    

ขั้นตอนที่ 2  วิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน โดยชุดตรวจสอบ เอ็น- พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 30 นาที (ภาพที่ 3 และ 4) ซึ่งเกษตรกรทำได้ด้วยตนเอง แต่ต้องเก็บดินให้ถูกวิธี (ภาพที่ 5 - 10) 

ขั้นตอนที่ 3  ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” (ภาพที่ 11) หรือโปรแกรม SimRice สำหรับข้าวได้ที่เว็บไซต์ www.ssnmthai.com (ภาพที่ 12)

เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” จึงเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทย โปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 พืช คือ ข้าว (SimRice) ข้าวโพด (SimCorn) และอ้อย (SimCane) เฉพาะอ้อยที่ปลูกในภาคอีสาน 

ผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.ssnmthai.com และ www.banrainarao.com