เตาเผาถ่านแกลบมหัศจรรย์ สำหรับใช้ผลิต "กุนตัง" (Kuntan) ในระดับครัวเรือน

 

         ตอนที่แล้ว ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ได้เกริ่นถึง "ถ่านแกลบ" ให้ท่านรู้จักไปบ้างแล้ว ฉบับนี้ผมขอนำเสนอภาคต่อ

ขอเรียกว่าเป็นข้อเขียนสำหรับภาคปฏิบัติก็แล้วกัน

 

         "กุนตัง" (Kuntan) เป็นภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียก "ถ่านแกลบ" ที่ได้จากการเผาแกลบที่อุณหภูมิสูง (ประมาณ 400 องศาเซลเซียส) คาร์บอนในแกลบจึงยังอยู่ใน "กุนตัง" แตกต่างจาก "แกลบดำ" (ขี้เถ้าแกลบ) ตามโรงสีข้าว เพราะแกลบถูกเผาที่อุณหภูมิสูงกว่ามาก (ประมาณ 800-900 องศาเซลเซียส) ทำให้คาร์บอนเปลี่ยนสภาพไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ สร้างปัญหาภาวะโลกร้อนตามมา

 

         เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นใช้ "กุนตัง" เป็นวัสดุปรับปรุงดินมานานกว่า 300 ปี "กุนตัง" มีรูพรุนจำนวนมาก ทนทานต่อการย่อยสลาย ถ้าใส่ลงดินในอัตราร้อยละ 20 โดยปริมาตร หรือร้อยละ 2 โดยน้ำหนัก ดินเหนียวจะโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ขณะที่ดินทรายจะอุ้มน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ "กุนตัง" ยังให้ธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะ "พี" "เค" และ "ซิลิก้า" เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ดิน และใช้เพาะกล้าไม้ได้ดีอีกด้วย

 

         ในแต่ละปีการผลิตข้าวของประเทศไทยได้แกลบออกมามากกว่า 4 ล้านตัน จึงหาแกลบได้ง่าย ราคาถูก น้ำหนักก็เบา สะดวกในการขนย้าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คาซูทะเคะ คิวม่า ผู้เชี่ยวชาญดินนาชาวญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นประโยชน์ของแกลบในการปรับปรุงดิน จึงพัฒนาเตาเผาถ่านแกลบต้นแบบสำหรับใช้ผลิต "กุนตัง" ในระดับครัวเรือนขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จากนั้นมอบให้มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดำเนินการพัฒนาและเผยแพร่ให้เกษตรกรต่อไป

 

แบบแปลนและส่วนประกอบ

         "เตาเผาถ่านแกลบมหัศจรรย์" ในแบบแปลนนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่งคือ มีฝาปิดช่องอากาศเข้าด้านล่างอัตโนมัติเมื่อไฟไหม้แกลบหมด (ไฟไหม้ลงมาถึงตะแกรงเหล็ก) เกษตรกรจึงไม่ต้องเสียเวลาในการปิด และปล่องส่วนหนึ่ง มี 2 ชั้นสำหรับใช้หล่อน้ำ เพื่อให้ได้น้ำส้มควันแกลบมากขึ้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรอาจดัดแปลงแบบแปลนนี้ให้เหมาะสม

กับความต้องการใช้งาน และเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนประกอบหลักๆ มีดังต่อไปนี้

         1. ถังน้ำมันใช้แล้วขนาด 200 ลิตร พร้อมฝาปิด มีขายทั่วไปในท้องตลาด

         2. ท่อเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3 นิ้ว (ปล่องควันยาว 2 เมตร)

         3. ตะแกรงเหล็กขนาดเท่ากับถัง ใช้ป้องกันแกลบร่วงลงไปที่ก้นถัง

         4. ภาชนะรองรับน้ำส้มควันแกลบ ควรเป็นถังพลาสติกทรงสูง เพราะน้ำส้มควันแกลบเป็นกรด

 

 

 

ขั้นตอนการเผาแกลบ

        1.ใส่ตะแกรงเหล็กลงในถัง (ใช้อิฐรองตะแกรง หรือติดขาตั้งตะแกรง) ให้ตะแกรงอยู่ในระดับเหนือท่ออากาศเข้าที่ติดอยู่ด้านล่างและแขวนภาชนะสำหรับรองรับน้ำส้มควันแกลบ

         2.ใส่แกลบลงในถัง เกลี่ยให้เรียบเสมอ จนระดับผิวบนของแกลบอยู่ต่ำกว่าท่ออากาศออกด้านบน 2-3 ซม. ใช้แกลบประมาณ 130 ลิตร หรือ 17 กก.

         3.ใส่ฟางข้าวหนาประมาณ 10 ซม. ลงไปบนแกลบ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาแกลบ ให้ฟางข้าวบริเวณขอบถังหนากว่าตรงกลาง เพราะแกลบบริเวณของถังติดไฟยากกว่า

         4.จุดไฟที่ฟางข้าว 4-5 จุด ทั้งบริเวณรอบๆ ขอบถังและตรงกลาง ขณะที่พัดเร่งให้ไฟ 2-3 นาที โรยแกลบลงไปเล็กน้อยเพื่อเป็นเชื้อไฟ เมื่อแกลบติดดีแล้วจึงปิดฝาถัง ถ้ามีควันไฟสีขาวขุ่นพุ่งออกมาจากปล่องควันอย่างต่อเนื่องแสดงว่าแกลบติดไฟได้ดี

         5.เมื่อแกลบไหม้จนหมด หรือไฟไหม้มาถึงตะแกรงเหล็ก แสดงว่าแกลบเปลี่ยนสภาพเห็น "กุนตัง" แล้ว สังเกตได้จากควันไฟสีขาวขุ่นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้า (ใช้เวลา 5-6 ชม. หลังจากจุดไฟ) ให้ปิดฝาท่ออากาศเข้าด้านล่างและปล่องควันอาจใช้ดินเหนียว (ในกรณีไม่มีฝาปิดอัตโนมัติ) และอีก 5-10 นาที ควันไฟสีฟ้าจะอ่อนลงเป็นควันใส (ไม่มีสี)

         6.รอให้เตาเย็นลง (ใช้เวลา 7-8 ชม.) หรือทิ้งไว้ข้ามคืน (ถ้าปิดฝาท่อไม่สนิท อุณหภูมิของเตาจะไม่ลดลง) เปิดฝาถังและนำ "กุนตัง" ออกกองไว้ในที่โล่งแจ้งให้แน่ใจว่าไฟดับสนิทแล้ว จึงบรรจุใส่กระสอบ

 

 

 

 

         น้ำส้มควันแกลบที่เก็บได้ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ต้องทำให้บริสุทธิ์เสียก่อน โดยการปล่อยให้ตกตะกอนใช้เวลาประมาณ 90 วัน ชั้นบนเป็นน้ำมันใส ชั้นกลางเป็นของเหลวสีชาว (ใช้เฉพาะส่วนนี้) และชั้นล่างเป็นของเหลวขึ้นสีดำ

 

         การเผาแกลบ 130 ลิตร (17 กก.) จะได้ "กุนตัง" ประมาณ 80 ลิตร (10 กก.) และได้น้ำส้มควันแกลบ 400-600 ซีซี.

 

         ข้อควรระวัง "กุนตัง" คุณภาพดีต้องมีสีดำ ถ้าบางส่วนยังมีน้ำตาลอยู่ แสดงว่าแกลบยังเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และถ้าปิดฝาท่ออากาศเข้าด้านล่างและปล่องควันไม่สนิทอากาศจะเข้าได้ ทำให้แกลบเผาไหม้ต่อไป "กุนตัง" จะเปลี่ยนสภาพเป็น"ขี้เถาแกลบสีขาวๆ"

 

         สอบถามรายละเอียดและสั่งซื้อ "เตาเผาถ่านแกลบมหัศจรรย์" ได้ที่ ผอ.ไชยศิริ  สมสกุล  ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตรต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทรศัพท์ 02-567-0784

 

 

ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์

มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน

โทร.081-3065373