ปุ๋ยแบบสั่งตัดประหยัดได้จริง

มาเล่าถึงปุ๋ยสั่งตัดใหม่ครับ เพราะมาถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังขับเคลื่อนพลักดัน ให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และให้ได้ผลผลืตเพิ่ม ซึ่งต้องมีปัจจัยหลายด้านที่ต้องขับเครลื่อนไปพร้อมกัน อย่างปัจจุบันปุ๋ยมีราคาแพงอย่างในวันนี้ ก็อีกส่วนหนึ่งหากเราลดการปุ๋ยที่เกินความจำเป็น ก็สามารถลดค้นทุนการผลิตได้เช่นกัน

          ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานออกมาทำหน้าที่ให้คำแนะนำโดยวิธีต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการลดอัตราการใช้ปุ๋ยลง นั่นแปลว่าหากใช้น้อยลง ก็ประหยัดต้นทุนได้ มีทั้งแบบที่เอาผลงานเก่าๆหลายปีมาแล้วมาปัดฝุ่นใหม่ หรือบางทีละเลยการสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ไปนาน แล้วก็พยายามใช้แนวคิดเก่าๆ มาแนะนำเพื่อให้ไม่ตกกระแส แต่ทั้งหมดนี้ ไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงได้

ทีจริงเรื่องนี้ มีงานส่วนหนึ่งที่ทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มมาแล้ว โดยการสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัยแห่งชาติ ( สกว.) โดยมี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ เป็นหัวหน้าโครงการ

           นั่นก็คือการจัดการธาตุอาหารของข้าว โดยอาศัยค่าการวิเคราะห์ดินเป็นหลัก หรือจะให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ แนวคิดของการใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชในดินแต่ละชนิด หากมองเปรียบเทียบกับเรื่องของเสื้อผ้า ก็เหมือนการพัฒนาวิธีการให้ปุ๋ยแบบเดียวกับการสั่งตัดเสื้อผ้าให้ตรงตามขนาดของผู้ใช้นั่นเอง แทนที่จะทำแบบเดิมคือตัดเสื้อโหล แล้วให้ทุกคนใส่ได้หมด ซึ่งในความเป็นจริงของโลกแล้ว ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

          หลังจากที่แนวคิดนี้ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วในแปลงของเกษตรกรหลายจังหวัด ก็เลยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ เราสามารถลดการใช้ปุ๋ยบางตัวลงได้ และเพิ่มธาตุอาหารบางตัวเข้าไป ปรากฏว่าต้นทุนค่าปุ๋ยลดลงไปมาก แต่ขณะเดียวกันผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น

          แสดงว่าที่ผ่านมาเราใช้ปุ๋ยผิดวิธีมาโดยตลอด ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อก่อนปุ๋ยยังไม่แพงเหมือนปัจจุบัน ก็เลยไม่ค่อยมีใครสนใจวิธีการลดปุ๋ยแบบนี้เท่าไรนัก

          เรื่องนี้เราคุยกันนานแล้ว  จึงมาเล่ากันใหม่ เพราะว่าวันนี้ แนวคิดดังกล่าวเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะว่าได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดี

          เมื่อ 9 ปีที่แล้วทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ได้รับแนวคิดนี้ไปขยายผลในพื้นที่นาในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ในพื้นที่ตั้งเป้าหมาย 2 แสนไร่ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการวิจัย ที่จะให้มีการวิเคราะห์ดินนาก่อน แล้วจึงใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้สำหรับดินแต่ละชนิด

          แรกๆ ฟังดูแล้วเหมือนกับว่ายาก และชาวนาคงไม่มีทางทำได้ แต่โครงนี้ ได้พัฒนาวิธีการต่างๆ ที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง โดยไม่ต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ  

          คือเริ่มตั้งแต่เกษตรกรสามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ดินอย่างง่ายและรู้ผลเร็วภายในไม่เกินครึ่งชั่วโมง ประกอบกับตารางคำแนะนำอัตราการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ และมีคู่มือช่วยในการบอกชุดดินอีกว่า ดินที่นำมาวิเคราะห์นั้นอยู่ในชุดดินอะไร และสามารถใช้ปุ๋ยตามที่ดินต้องการนั่นเอง

         หลังจากที่ได้เริ่มโครงการขยายผลที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปรากฏว่าทาง ส.ป.ก.เห็นลู่ทางขยายผลต่อไปอีก จึงได้เปิดโครงการเพิ่มผลผลิตข้าวและลดต้นทุนการผลิตในเขตพื้นที่ของ ส.ป.ก. ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง รวมแล้วมีพื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านไร่ โดยที่จะให้มีการลดต้นทุน 2-3 อย่าง คือเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ลดการเผาฟาง

         ที่สำคัญคือการจัดการปุ๋ยโดยอาศัยค่าวิเคราะห์ดินตามองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของ ศ.ดร.ทัศนีย์เป็นหลัก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ โดยที่โครงการนี้จะเริ่มเปิดตัวไปแล้ว เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

         ถ้าเราดูจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ในบางพื้นที่ภาคกลางเฉพาะใช้ปุ๋ยสั่งตัดสามารถลดต้นทุนได้ไร่ละกว่า 500 บาทครับ